ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กลุ่มอาสาสมัครในต่างแดนของ LTU ให้บริการอาสาฯ ในพื้นที่ทางภาคเหนือของไทยมาเป็นเวลา 12 ปี ต้อนรับเมล็ดพันธุ์ที่จะพัฒนาเป็นอาจารย์ในพื้นที่ต่อไปในอนาคต เดินทางมาศึกษาต่อที่ไต้หวัน
2020-01-15

กลุ่มอาสาในต่างแดน รุ่นที่ 12 ของ LTU ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับเหล่าอาจารย์และนักเรียนของโรงเรียนจีนหวยหลง (ภาพจาก LTU)

กลุ่มอาสาในต่างแดน รุ่นที่ 12 ของ LTU ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับเหล่าอาจารย์และนักเรียนของโรงเรียนจีนหวยหลง (ภาพจาก LTU)

LTU วันที่ 9 ม.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลิงตง (Ling Tung University, LTU) แถลงว่า กลุ่มอาสาสมัครในต่างแดนของ LTU ได้ดำเนินการให้บริการอาสาสมัครด้านการศึกษา ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มาเป็นเวลากว่า 12 ปี เด็กและเยาวชนที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมในวันนั้น เติบโตเป็นผู้ใหญ่กันแล้วในวันนี้ โดยในการเดินทางมาเยือนของกลุ่มอาสา LTU ในครั้งนี้ ได้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายในพื้นที่ ให้เดินทางมาเข้ารับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ LTU เป็นจำนวน 2 คน พร้อมมอบทุนการศึกษาเต็มจำนวน และจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับค่าที่พักอาศัย โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่พวกเขาสำเร็จการศึกษา กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตน จะนำความรู้กลับไปช่วยพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป


 

LTU มีวิทยาเขตตั้งอยู่ที่นครไถจง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา นักศึกษาในสถาบันได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อเดินทางไปให้บริการที่บ้านอุปถัมภ์เด็กของคริสตจักรในหมู่บ้านหินแตก และโรงเรียนจีนหวยหลง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ LTU เผยว่า กลุ่มอาสาสมัครได้ดำเนินการ ตามโครงการพัฒนาในแผนระยะยาว โดยในทุกปี จะมีกลุุ่มนักศึกษาที่มีใจรักในการเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ร่วมกับอาจารย์ เดินทางไปให้บริการอาสาสมัครด้านการศึกษา ณ สถานที่แห่งเดียวกันกับครั้งที่ผ่านๆ มา เพื่อปลูกฝังการศึกษาให้กับเหล่าเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ให้กับเหล่าอาจารย์ในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาการอาชีวศึกษาในพื้นที่ หลายปีที่ผ่านมานี้ กลุ่มอาสาฯ ได้นำหลักสูตรที่มีความหลากหลาย ไปถ่ายทอดเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับเหล่าอาจารย์และเยาวชนในพื้นที่ อาทิ ภาษาจีน – อังกฤษ การเรียนการสอนเชิงสร้างสรรค์ วัฒนธรรมของชาวจีน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและวิชาชีวิต รวมไปถึงการฝึกอบรมทางวิชาชีพ เป็นต้น หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว จะสังเกตเห็นได้ว่า การศึกษาได้ส่งเสริมให้เหล่าเยาวชนในพื้นที่ มุ่งไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นพลังที่ทำให้กลุ่มอาสาฯ ยังคงยืนหยัดในการมุ่งดำเนินการต่อไป


 

นายเลี่ยวจงซิ่น อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มอาสาสมัครในต่างแดน กล่าวว่า ตลอด 12 ปีที่ให้บริการอาสาสมัครแก่พื้นที่ทางภาคเหนือของไทย สิ่งที่น่าชื่นชมคือ การมองโลกในแง่ดี และการยอมจำนนต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และอนาคตที่ไม่แน่นอนของเด็กๆ ในพื้นที่ เขาและสมาชิกกลุ่มอาสาฯ คาดหวังว่าจะนำมาซึ่งวิถีแห่ง “ความเป็นไปได้” ซึ่งก็คือความเป็นไปได้ในอันที่จะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่าอาจารย์ บรรดาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โดยระบุว่า “การศึกษา” และ “การเรียนรู้” เป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาสามารถยืนหยัดในการดำเนินการสืบต่อไปอย่างยั่งยืน ดังนั้นเขาจึงมุ่งมั่นในการนำสมาชิกของกลุ่มอาสาฯ ไปเยือนในพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เชื่อมโยง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ต่อไปในภายภาคหน้า


 

นางฟ่านหวินฮัว ผู้อำนวยการโรงเรียนจีนหวยหลง กล่าวว่า LTU ได้เดินทางมาให้บริการอาสาสมัครที่นี่ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 12 ปี สร้างความประทับใจให้กับพวกเราเป็นอย่างมาก เด็กๆ ที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมในวันนั้น เติบโตเป็นผู้ใหญ่กันแล้วในวันนี้ และทุกครั้งที่ทราบว่ากลุ่มอาสาฯ จะเดินทางมาเยือน พวกเขาจะดีใจมากที่จะได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับพี่ๆ อาสาฯ ที่เคยเดินทางมาเยือนหลายครั้ง ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความทุ่มเทตั้งใจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการปรับแผนการสอนตามสถานการณ์ เป็นสิ่งที่ครู - นักเรียนโรงเรียนจีนหวยหลง ยากที่จะลืมเลือน จากความมุ่งมั่นดังกล่าว ทำให้พวกเราวางใจมาก ที่จะยกเด็กทั้ง 2 คนของพวกเราให้อยู่ในความดูแลของ LTU ในระหว่างเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไต้หวัน และคาดหวังว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาในอีก 4 ปีข้างหน้าแล้ว พวกเขาจะนำความรู้ที่สั่งสมมาประยุกต์ใช้ในถิ่นกำเนิด ให้เกิดประโยชน์แก่คนรุ่นหลังสืบไป