ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สมาคมแพทย์โรคจมูกไต้หวัน – ไทยลงนาม MOU ร่วมกัน
2020-01-31

สมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งไต้หวันและสมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย) พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามใน MOU ร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจาก TECO)

สมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งไต้หวันและสมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย) พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามใน MOU ร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจาก TECO)

TECO วันที่ 22 ม.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) ได้แถลงว่า สมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งไต้หวัน (Taiwan Rhinology Society, TRS) ได้ดำเนินการตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ดร. ฟางเซินอี้ นายกสมาคม TRS ได้นำคณะตัวแทนเดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย) (Thai Rhinology Society, TRS) โดยสมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งไต้หวันได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสมาคมแพทย์โรคจมูกนานาชาติ (International Rhinologic Society, IRS) เมื่อปี 2018 การร่วมลงนาม MOU กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมแพทย์โรคจมูก (ไทย) ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่สมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งไต้หวัน ได้มีโอกาสลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือข้ามประเทศ หลังจากที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ IRS เป็นต้นมา


 

โดยพิธีลงนาม MOU ในครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา มีอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวแทนสมาคมแพทย์โรคจมูกแห่งไต้หวัน ได้มอบของที่ระลึกที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ของไต้หวัน ให้กับตัวแทนฝ่ายไทย พร้อมแสดงความคาดหวังว่า จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการแพทย์ระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ต่อไป พร้อมทั้งใช้โอกาสนี้ ในการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ด้านการแพทย์ และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อวงการการแพทย์ไทย ตลอดจนร่วมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไต้หวันไปด้วยในตัว


 

ทั้งนี้ TECO แถลงว่า ช่วงปีที่ผ่านมานี้ มีแพทย์ฝึกหัดเฉพาะทางโรคจมูกชาวไทย ทั้ง 3 คน เดินทางมาเข้ารับการฝึกอบรมระยะสั้น ที่ศูนย์การแพทย์ไต้หวัน หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม บรรดาแพทย์ฝึกหัดชาวไทยต่างเกิดความประทับใจในซอฟต์พาวเวอร์ด้านการแพทย์ ระบบการแพทย์ ภูมิทัศน์วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นอันโดดเด่นของไต้หวันเป็นอย่างมาก หลังจากการร่วมลงนามระหว่างกันเสร็จสิ้นลง  สมาคมแพทย์โรคจมูกของทั้งสองฝ่ายจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เดินทางแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างกัน ปีละ 2 คน เพื่ออาศัยโอกาสนี้ ในการเปิดโอกาสให้คณะตัวแทนไทย ได้ทำความรู้จักกับไต้หวันมากขึ้น


 

ในตอนท้าย ดร. ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวย้ำว่า การแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ของไต้หวันถือเป็นอันดับ 3 ของโลก ในขณะที่การบริการทางการแพทย์ของไต้หวัน ถูกจัดให้เป็นอันดับ 1 ของโลก และในส่วนของระบบและเครื่องมือทางการแพทย์อัจฉริยะ ก็ได้รับความนิยมมากในวงการการแพทย์ของไทย ดร. ถงฯ แถลงเพิ่มเติมว่า ทาง TECO ได้จัดตั้งแพลตฟอร์มให้บริการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทย โดยภายในแพลตฟอร์มฯ นี้ จะมีตัวแทนจากทั้งคณะแพทยศาสตร์และหน่วยงานการแพทย์ของไต้หวันกว่า 140 แห่ง พร้อมทั้งตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ยาเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีตัวแทนของโรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์หลายแห่งในกรุงเทพมหานครเข้ามีส่วนร่วม จึงขอเชิญชวนให้ผู้เชี่ยวชาญทางภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ วิชาการและการวิจัย ระหว่างไต้หวัน – ไทย เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน ผ่านช่องทาง LINE ID : TaiwanMED เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพระหว่างไต้หวัน – ไทยสืบต่อไป