ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นโยบายมุ่งใต้ใหม่ประสบความสำเร็จชัด ทั้งด้านการศึกษา การลงทุน และการแพทย์
2020-02-17

นโยบายมุ่งใต้ใหม่ประสบความสำเร็จชัด ทั้งด้านการศึกษา การลงทุน และการแพทย์

นโยบายมุ่งใต้ใหม่ประสบความสำเร็จชัด ทั้งด้านการศึกษา การลงทุน และการแพทย์

TECO วันที่ 12 ก.พ. 63

 

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) แถลงว่า ทางสำนักงานฯ ได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือในโครงการระหว่างไต้หวัน – ไทยอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี ที่ประสบความสำเร็จอย่างเด่นชัดในด้านต่างๆ ดังนี้


 

ประการแรก ด้านการศึกษา

 

นับตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน จำนวนนักศึกษาไทยที่เดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวัน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปี 2018 มีจำนวน 3,236 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่มีจำนวนเพียง 1,591 คน และเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2019) จำนวนนักศึกษาไทยเพิ่มขึ้นมาสูงถึง 4,001 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 24 จากปี 2018 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนนักศึกษาจากมาเก๊าและสหรัฐฯ จนทำให้อันดับของจำนวนนักศึกษาไทยขยับจากอันดับ 10 ของนักศึกษาชาวต่างชาติที่เดินทางมาศึกษายังไต้หวันมากที่สุด มาอยู่ในอันดับ 8 แล้ว
 

นอกจากนี้ นักศึกษาไต้หวันและทุกสถาบันในไต้หวัน ต่างเพิ่มการติดต่อแลกเปลี่ยนกับไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปีที่แล้ว นักศึกษาไต้หวัน 10 คนที่ได้ทุนไปศึกษาต่อยังประเทศอาเซียน มี 6 คนที่เลือกเดินทางไปศึกษาต่อที่ไทย แสดงให้เห็นว่า นักศึกษาไต้หวันได้ให้ความสำคัญกับจุดเด่นของการศึกษาไทยในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ไฮไลท์หลักของการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – ไทย อยู่ที่มหาวิทยาลัยของไต้หวันกว่า 7 สถาบัน ได้ทยอยกันจัดตั้งสำนักงานย่อยในประเทศไทย เนื่องจากทางสถาบันฯ มีความมั่นใจว่าการศึกษาที่เปี่ยมด้วยคุณภาพของไต้หวัน จะเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมหลักของไทยได้อย่างแน่นอน


 

ประการที่ 2 ด้านการลงทุน

 

ไต้หวันเป็นแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทย ซึ่งตลอดทั้งปี 2019 มูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย ลดลงร้อยละ 16.2 รวมถึงปริมาณเงินลงทุนทั้งสิ้นที่ได้รับการอนุมัติ ก็ลดลงร้อยละ 18.6 เช่นกัน ในทางกลับกัน การขออนุมัติการลงทุนของนักธุรกิจไต้หวันในประเทศไทย กลับมีอัตราเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 233.7 ส่วนปริมาณเงินลงทุนที่ได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น ก็เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 278.2 เช่นกัน จึงเห็นได้ชัดว่าการลงทุนของไต้หวันมีบทบาทสำคัญ ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งการลงทุนส่วนใหญ่ ต่างก็เป็นการลงทุนในพื้นที่สำคัญ เช่น เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น


 

ประการที่ 3 ด้านการแพทย์

 

เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของไทยในปัจจุบัน แพงกว่าค่ารักษาพยาบาลในไต้หวัน 4 – 5 เท่า หลังจากที่รัฐบาลไต้หวันได้ส่งเสริมนโยบายยกเว้นการตรวจลงตรา (visa) ให้กับนักท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ไต้หวัน เป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น จากจำนวน 1,220 คนในปี 2015 เพิ่มขึ้นเป็น 7,044 คนในปี 2018 โดยอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 477


 

ในตอนท้าย สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทยได้แสดงความขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากทุกส่วน ที่ได้ร่วมมือกันสร้างผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด โดยในอนาคตจะร่วมกันต่อสู้กับอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ต่อไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกันที่มากขึ้น ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – ไทย ภายใต้พื้นฐานความร่วมมือที่มีอยู่เดิม ให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย