ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียม FORMOSAT-7 แล้ว
2020-03-09

ดาวเทียม FORMOSAT-7 , ข้อมูลสังเกตการณ์ , การพยากรณ์อากาศของทั่วโลก , พายุสุริยะขนาดเล็ก , ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ , ระบบโทรคมนาคม , ระบบนำทาง GPS , National Space Organization

ดาวเทียม FORMOSAT-7 , ข้อมูลสังเกตการณ์ , การพยากรณ์อากาศของทั่วโลก , พายุสุริยะขนาดเล็ก , ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ , ระบบโทรคมนาคม , ระบบนำทาง GPS , National Space Organization

National Space Organization วันที่ 6 มี.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา National Space Organization (NSPO) ของไต้หวันเปิดเผยว่า หลังจากที่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม FORMOSAT-7 ขึ้นสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2019 ก่อนที่ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2019 จะเริ่มการทดสอบข้อมูลสังเกตการณ์ ในเวลา 10 น. ของวันที่ 7 มีนาคมนี้ ก็จะร่วมกับองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ในการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากการสังเกตการณ์ไปพร้อมกัน ในส่วนของไต้หวันนั้น สามารถเข้าชมได้ทางเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยาไต้หวัน (CWB) ที่ https://tacc.cwb.gov.tw/v2/download.html โดยในเวลา 10.00 น. ของทุกวัน (เวลา 02.00 น. ตามเวลา UTC) จะทำการเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่ได้รับในวันก่อนหน้า


 

โดย NSPO ชี้ว่า FORMOSAT-7 เป็นดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานร่วมกับ NOAA ถือเป็นโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันและสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีมานี้ FORMOSAT-7 ประกอบด้วยดาวเทียม 6 ดวง ซึ่งถูกจรวดส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูง 720 กม. เพื่อเข้าสู่วงโคจรที่แตกต่างกัน 6 วงด้วยกัน โดยมี NSPO ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับการทำงานของดาวเทียม ปัจจุบัน มีดาวเทียม 2 ดวงถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 550 กม. คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 จะสามารถส่งดาวเทียมทั้งหมดเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จ ซึ่งในแต่ละวัน ดาวเทียมเหล่านี้จะทำการจัดส่งข้อมูลสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ชั้นบรรยากาศประมาณ 4,000 จุดในช่วงระหว่างเส้นละติจูดที่ 50 องศาเหนือและ 50 องศาใต้ คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้การพยากรณ์อากาศของทั่วโลกมีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น


 

ทั้ง NSPO ยังชี้ว่า ทีมวิจัยและพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเฉิงกงแห่งชาติ (National Cheng Kung University, NCKU) ได้ทำการวิเคราะห์พายุสุริยะขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2019 ก่อนจะพบว่า ดาวเทียม FORMOSAT-7 สามารถสังเกตเห็นว่า พายุสุริยะที่เกิดขึ้น สร้างความปั่นป่วนต่อชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์มากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบโทรคมนาคมและระบบนำทาง GPS ในแถบเอเชียกลางไปจนถึงยุโรป ต่างก็ถูกรบกวนหนักกว่าที่คาดคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความเข้าใจของวงการวิทยาศาสตร์โลก และถือเป็นผลงานสำคัญที่ได้รับจากการสังเกตการณ์ของ FORMOSAT-7 ที่ค้นพบว่า พายุสุริยะขนาดเล็กก็สามารถสร้างผลกระทบต่อโลกได้ไม่น้อยเช่นกัน


 

นอกจากนี้ NSPO ยังเห็นว่า ในด้านการทำงานแล้ว ข้อมูลทางอวกาศต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ถูกใช้ในการสังเกตุและพยากรณ์สภาวะอวกาศของกรมอุตุฯ อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ รวมถึงหน่วยงานที่ต้องทำงานเกี่ยวกับตรวจวัดด้านการสื่อสารโทรคมนาคมหรือตรวจวัดตำแหน่ง สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ https://swoo.cwb.gov.tw เพื่อค้นหาสภาวะอวกาศทั้งในปัจจุบันและในส่วนของการพยากรณ์ล่วงหน้า อันจะทำให้สามารถเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ในแต่ละวันและในอนาคต