ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สื่อต่างชาติชื่นชมประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสโควิด - 19 ของไต้หวัน
2020-03-09

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)แถลงว่า ในระยะนี้สื่อต่างประเทศแสดงความชื่นชมประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสโควิด - 19 ของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)แถลงว่า ในระยะนี้สื่อต่างประเทศแสดงความชื่นชมประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสโควิด - 19 ของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 6 มี.ค. 63

 

กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า มาตรการของไต้หวันในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อมวลชนในต่างประเทศเป็นอย่างมาก สื่อระดับแนวหน้าของโลกทยอยรายงานว่า มาตรการป้องกันโรคติดต่อของไต้หวันเป็นไปอย่างรัดกุม และไต้หวันไม่ควรถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในจำนวนนี้ เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) ของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องผ่านบทบรรณาธิการ ให้สหรัฐฯ สนับสนุนไต้หวัน พร้อมระบุว่าในสภาวการณ์ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จีนใช้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซง WHO ข่มเหงรังแกไต้หวันและทำให้โลกตกอยู่ในภาวะอันตราย ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะอดทนและยอมให้อีกต่อไป ขณะที่บทบรรณาธิการของเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) และเดอะการ์เดียน (The Guardian) ของอังกฤษ ได้อ้างอิงจุดยืนของกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่า WHO ไม่ควรยอมเป็นหุ่นเชิดของจีน ควรใช้ความเชี่ยวชาญและความเป็นกลางในการเร่งปรับเปลี่ยนการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมที่มีต่อไต้หวันโดยเร็ว ด้าน International Affairs Review ของอินเดียได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ศักยภาพด้านการป้องกันโรคติดต่อของไต้หวันสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” โดยได้แสดงความชื่นชมแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคติดต่อของไต้หวัน จนถึงขณะนี้สื่อต่างประเทศมีการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับไต้หวันในแง่บวกมากถึง 234 บทความ


 

กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญผู้สื่อข่าวต่างประเทศจากหลายสำนัก อาทิ The Diplomat ของสหรัฐฯ Gazeta Wyborcza ของโปแลนด์ Fodor’s Travel ของแคนาดา The Star ของสิงคโปร์ The Edinburgh Reporter ของอังกฤษ และ Getaway ของแอฟริกาใต้ เดินทางมาเยือนไต้หวันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ (2563) ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสื่อต่างประเทศได้รายงานด้วยความชื่นชมถึงความสำเร็จด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและมาตรการควบคุมคนเข้าเมืองของไต้หวัน ตลอดจนการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังระบุว่า มาตรการป้องกันโรคติดต่อของไต้หวันดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงช่วยเป็นปากเสียงให้แก่ไต้หวัน กรณีที่ไต้หวันถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ WHO อีกด้วย


 

นอกจากนี้เพื่อขอความสนับสนุนจากสื่อนานาชาติ กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ มากมาย อีกทั้งบทความที่สำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศต่างๆ ส่งไปยังสื่อทั่วโลกก็ได้รับการตีพิมพ์ โดยสื่อของสหรัฐฯ อาทิ Foreign Policy , Chicago Tribune , และ Diario las Americas รวมถึง เดอะการ์เดียนของอังกฤษ The Irish Times ของไอร์แลนด์ ไมนิจิ ชิมบุน ของญี่ปุ่น The Sun ของแคนาดา และ ABC ของสเปน เป็นต้น นับได้ว่ามีการรายงานโดยสื่อใน 5 ทวีปใหญ่ของโลก


 

สำหรับความพยายามในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 นั้น กระทรวงการต่างประเทศยังจะเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศได้โพสต์บทความที่เกี่ยวข้อง 15 บทความ และมียอดการเข้าถึงเกินกว่า 1 ล้านครั้ง ในทวิตเตอร์ 19 บทความ มียอดการเข้าถึง 1.69 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้ บทความที่ได้รับการตอบรับมากที่สุด คือบทความของนายอู๋เจาเซี่ย รมว.ต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องที่ WHO ใช้ชื่อที่ไม่เหมาะสมมาแทนชื่อประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และการเผยแพร่ข่าวปลอมของชาวเน็ตจีน นอกจากนี้เว็บไซต์ Taiwan Today หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมี 9 ภาษา ได้นำเสนอบทความรวม 294 บทความ เฟซบุ๊กของสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศโพสต์บทความรวม 1,493 บทความ มียอดจำนวนครั้งที่แสดงมากกว่า 2.36 ล้านครั้ง ขณะที่ทวิตเตอร์ของสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ จนถึงขณะนี้มี 433 บทความ มียอดการเข้าถึงสูงกว่า 4.4 แสนครั้ง นับได้ว่าการประชาสัมพันธ์สู่นานาชาติโดยผ่านช่องทางต่างๆ เหล่านี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

 

กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า สื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ล้วนมีท่าทีที่เป็นมิตรกับไต้หวัน แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน WHO พร้อมระบุว่า ไต้หวันห่วงใยระบบสาธารณสุขโลกและการป้องกันโรคติดต่อ อีกทั้งคาดหวังว่า จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ตลอดจนร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ รัฐบาลสาธารณรัฐจีนยังคาดหวังว่า ประชาคมโลกจะสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันภายใต้คำขวัญ Health for All, Taiwan Can Help