ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ผลประกอบการ มูลค่าส่งออกและจำนวนบุคลากรของสวนวิทยาศาสตร์ไต้หวันประจำปี 2019 ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
2020-03-10

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายเฉินเหลียงจี (ที่ 2 จากขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวร่วมกับผู้อำนวยการสวนวิทยาศาสตร์ซินจู๋ ไทจง และไทหนาน พร้อมรายงานผลประกอบการประจำปี 2019 ของสวนวิทยาศาสตร์ไต้หวันในงานครั้งนี้ด้วย (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์)

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายเฉินเหลียงจี (ที่ 2 จากขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวร่วมกับผู้อำนวยการสวนวิทยาศาสตร์ซินจู๋ ไทจง และไทหนาน พร้อมรายงานผลประกอบการประจำปี 2019 ของสวนวิทยาศาสตร์ไต้หวันในงานครั้งนี้ด้วย (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 9 มี.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเทคโนโลยี 5G , AI และ Internet of Things (IoT) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการประจำปี 2019 ของสวนวิทยาศาสตร์ไต้หวัน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 2,632,100 ล้านเหรียญไต้หวัน เติบโตขึ้นร้อยละ 1.39 จากปี 2018 มูลค่าการส่งออกพุ่งแตะสถิติใหม่ที่ 2,669,130 ล้านเหรียญไต้หวัน เติบโตขึ้นจากปี 2018 ร้อยละ 15.99 นอกจากนี้ บุคลากรที่ทำงานในสวนวิทยาศาสตร์ไต้หวัน มีจำนวนทั้งสิ้น 280,048 คน ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่เช่นเดียวกัน


 

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระบุว่า ผลประกอบการประจำปี 2019 ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,632,100 ล้านเหรียญไต้หวัน ในจำนวนนี้ แบ่งออกเป็น ผลประกอบการรวมของสวนวิทยาศาสตร์ซินจู๋ มียอดสูงสุดที่ 1,091,646 ล้านเหรียญไต้หวัน เติบโตขึ้นร้อยละ 1.5 สวนวิทยาศาสตร์ไทจงมียอดรวม 797,232 ล้านเหรียญไต้หวัน สำหรับสวนวิทยาศาสตร์ไทหนานในปีนี้ ผลประกอบการลดลงร้อยละ 6.59 อยู่ที่ 743,236 ล้านเหรียญไต้หวัน


 

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชี้แจงว่า สำหรับการส่งออกของสวนวิทยาศาสตร์ตลอดช่วงปี 2019 ก็ได้รับประโยชน์จากความต้องการของตลาดในด้านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะ และความต้องการในการใช้ประโยชน์จาก 5G ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นการกระตุ้นการส่งออกของบริษัทรับจ้างผลิตแผงวงจร หรือห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมสารสนเทศ ให้เกิดความคึกคักมากยิ่งขึ้น ทั้งยังถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของสวนวิทยาศาสตร์ไต้หวันอีกด้วย


 

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เผยถึงความคาดหวังในปี 2020 ว่า ภายใต้สถานการณ์สงครามการค้าและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 เช่นนี้ ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกต่างรอประเมินสถานการณ์ อัตราการเติบโตของการค้าโลกชะลอตัวลง หากแต่โอกาสธุรกิจเกิดใหม่อย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G , Internet of Things อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ เทคโนโลยี AI กระบวนการอัลกอริทึม (Algorithm) ความเร็วสูง และข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีระดับไฮเอนด์ที่ผู้ประกอบการไต้หวันวิจัยและพัฒนาได้เริ่มทยอยวางตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงการส่งออกให้ดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดสาย คาดการณ์ว่าในปี 2020 นี้ ผลประกอบการของสวนวิทยาศาสตร์จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง