ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ดร.หลัวจู๋ฟางแห่ง NCKU คว้ารางวัลเกียรติคุณดีเด่น ปี 2020 จาก OIE
2020-03-24

ดร.หลัวจู๋ฟาง (ซ้าย) ศาสตรเมธาจารย์ แห่ง NCKU เป็นนักวิชาการคนแรกของไต้หวันที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ปี 2020 จาก OIE (ภาพจาก NCKU)

ดร.หลัวจู๋ฟาง (ซ้าย) ศาสตรเมธาจารย์ แห่ง NCKU เป็นนักวิชาการคนแรกของไต้หวันที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ปี 2020 จาก OIE (ภาพจาก NCKU)

NCKU วันที่ 21 มี.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. มหาวิทยาลัยเฉิงกง (National Cheng Kung University, NCKU) แถลงว่า ดร.หลัวจู๋ฟาง ศาสตรเมธาจารย์ คณะเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมชีวภาพ (Department of Biotechnology and Bioindustry Sciences) นักวิชาการที่ได้มุ่งมั่นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคตัวแดงดวงขาวในกุ้งซึ่งเป็นบ่อเกิดของความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งมานานหลายทศวรรษ เมื่อช่วงที่ผ่านมา ดร.หลัวฯ ยังได้ทำการวิจัยเรื่องโรคตับวายเฉียบพลันของกุ้ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการและอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นอย่างมาก องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties, OIE) ได้ให้การยอมรับเป็นอย่างสูง โดยได้มอบ “รางวัลเกียรติคุณ ปี 2020” (2020 Meritorious Award) ให้กับดร.หลัวฯ ซึ่งถือเป็นนักวิชาการชาวไต้หวันคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศดังกล่าว


 

ทั้งนี้ OIE มีกำหนดจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคมที่ฝรั่งเศส โดยจะจัดพิธีมอบรางวัลเกียรติคุณดังกล่าว ภายใต้การเป็นสักขีพยานของตัวแทนประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ ดร.หลัวฯ กล่าวอย่างถ่อมตนว่า “มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทั่วโลกมากมายที่ให้ความสนใจในการวิจัยด้านชีววิทยาของสัตว์บกที่พบบ่อย อาทิ วัว แกะ หมู และไก่ เป็นต้น และมีผลสัมฤทธิ์ยอดเยี่ยมมากมาย การได้รับรางวัลเกียรติคุณในครั้งนี้รู้สึกเซอร์ไพร์สและเป็นเกียรติอย่างมาก รู้สึกยินดีที่ความพยายามของตนได้ถูกมองเห็นจากองค์การระดับนานาชาติอย่าง OIE“


 

ดร.หลัวฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น จากเดิมที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการวิจัยสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งเลย แต่เนื่องจากเล็งเห็นปัญหาว่า โรคตัวแดงดวงขาวในกุ้งเป็นสาเหตุที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้ ดร.หลัวฯ ตัดสินใจก้าวไปสู่เส้นทางแห่งความไม่คุ้นเคยสายนี้ นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1994 เป็นต้นมา


 

เมื่อปีค.ศ. 2013 ดร.หลัวฯ ได้ตอบรับคำเชิญในการประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญชาวไทย ภายในเวลาเพียง 3 เดือนก็ได้ค้นพบพลาสมิด (plasmid) ที่มียีนตัวหนึ่งผิดแผกไปจากปกติซึ่งเป็นชนวนก่อให้เกิดโรค ซึ่งได้รับการยืนยันภายหลังว่าเป็นพยาธิกำเนิด จากนั้นก็ได้วิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจจับพยาธิ สร้างประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วยการจำแนกความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของตัวอ่อนกุ้ง ก่อนจะนำไปเพาะเลี้ยง


 

ดร.หลัวฯ เกษียณอายุการทำงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ความกระตือรือร้นของเธอที่มีต่อวงการเพาะเลี้ยงกุ้งไม่ลดลงเลย ในปัจจุบันนี้กำลังมุ่งมั่นจัดตั้งแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งแห่งแรกในประเทศ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ผนวกเข้ากับระบบการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอัจฉริยะขึ้นที่เมืองฮัวเหลียน เพื่อที่จะนำผลสัมฤทธิ์ด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งมาตลอดทั้งชีวิตของตน ตอบแทนสังคม สร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งในไต้หวันสืบต่อไป