ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
TECO เปิดเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” แบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดแก่มิตรสหายชาวไทย
2020-03-30

TECO จัดตั้งเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” แบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดแก่มิตรสหายชาวไทย (ภาพจาก TECO)

TECO จัดตั้งเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” แบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดแก่มิตรสหายชาวไทย (ภาพจาก TECO)

TECO วันที่ 27 มี.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand ,TECO) แถลงว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว การดำเนินการตามมาตรการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐบาลทั่วโลก เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวันให้กับมิตรสหายชาวไทย ทาง TECO ได้เรียบเรียงบทความพิเศษที่เกี่ยวกับประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวันเป็นภาษาจีนและไทย รวบรวมรายงานข่าวที่เป็นภาษาจีน อังกฤษ และไทย ลงในเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” (http://XCOVID-19.Taiwan-Thailand.Net) จึงขอเชิญชวนให้คนไต้หวันที่พำนักอยู่ในไทยและมิตรสหายชาวไทยเข้ามาศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป


 

TECO เผยว่า ไต้หวันตั้งอยู่ใกล้กับจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 อย่างรุนแรง จนถึงขั้นไม่สามารถควบคุมไว้ได้เป็นประเทศแรก อีกทั้งยังถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) กีดกันให้อยู่นอกระบบป้องกันโรคระบาดทั่วโลกอันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง ภายใต้เงื่อนไขที่ตกเป็นรองในการที่ไม่สามารถเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ และการได้รับข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ แต่ไต้หวันกลับสามารถรับมือกับวิกฤตของโรคระบาดในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นเหนือประเทศอื่นๆ ดึงดูดสื่อต่างประเทศมากมายให้ความสนใจ อาทิ สื่อท้องถิ่นในไทยต่างชื่นชมกับนโยบายการป้องกันโรคระบาดของรัฐบาลไต้หวันเป็นอย่างมาก คอยจับตาสถานการณ์และรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับมาตรการและผลสัมฤทธิ์ในการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันอย่างใกล้ชิด


 

ด้วยเหตุนี้ ทาง TECO จึงได้เรียบเรียงบทความพิเศษเพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก รวบรวมรายงานต่างๆ ของสื่อต่างประเทศและรายงานการวิเคราะห์วารสาร ทั้งที่เป็นภาษาจีน ไทย และอังกฤษ รวมไปถึงวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษแปลไทยที่เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ที่กำลังจะได้รับการตีพิมพ์ลงใน Journal of American Medical Association วารสารการแพทย์ระดับสากล พร้อมรวบรวมข้อมูลข่าวสารและรายงานกว่า 10 ฉบับจากสื่อมวลชนไทย อาทิ สำนักข่าว Workpoint News รายการ Good Morning ASEAN หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (Bangkokbiz News) หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (Daily News) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เป็นต้น


 

ประเด็นที่ 2 ได้แก่มาตรการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ประกอบด้วย การบริหารงานของศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) กลไกการจัดสรรและควบคุมสายการผลิตหน้ากากอนามัย มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกของผู้เดินทางระหว่างประเทศ และการตรวจสอบประวัติการเดินทางของผู้ป่วยยืนยัน การรับมือกับข่าวปลอม รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาชุดน้ำยาเพื่อการตรวจคัดกรอง เป็นต้น


 

สำหรับประเด็นที่ 3 ได้แก่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กฎหมายพิเศษว่าด้วยการป้องกันโรคปอดอักเสบระบาดชนิดรุนแรงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงงบประมาณพิเศษ 60,000 ล้านเหรียญไต้หวัน มาตรการด้านการเงินการคลัง และมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว


 

ในประเด็นสุดท้าย เป็นมาตรการรับมือที่ทาง TECO จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันในไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ ประกอบด้วย ร่วมมือกับนักธุรกิจไต้หวันในไทยจัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับนักธุรกิจไต้หวันในไทย เพื่อรับมือกับโรคโควิด – 19” ให้บริการคำปรึกษาด้านการแพทย์ไทย – ไต้หวันผ่านช่องทางออนไลน์ ประสานขอความร่วมมือจากอาสาสมัครนักกฎหมาย เพื่อให้คำแนะนำทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน อีกทั้งติดต่อขอความร่วมมือจากสำนักงานบัญชี KPMG เพื่อให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เป็นต้น