ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันเรียกร้องให้ WHO ยึดมั่นในจุดยืนความเป็นมืออาชีพและทางสายกลาง ผลักดันให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์ พร้อมสร้างคุณประโยชน์ให้ประชาคมโลก
2020-03-31

วันที่ 30 มี.ค. กต.ไต้หวันออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแถลงการณ์ของสำนักเลขาธิการ WHO เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา(ภาพจาก MOFA)

วันที่ 30 มี.ค. กต.ไต้หวันออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแถลงการณ์ของสำนักเลขาธิการ WHO เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา(ภาพจาก MOFA)

MOFA วันที่ 30 มี.ค. 63
 

สืบเนื่องจากแถลงการณ์ของสำนักเลขาธิการองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่มีเนื้อความระบุ ให้การยอมรับในประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน และพิจารณาถึงความสำคัญในการเชิญให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในภารกิจ “ระบบการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) โลก” กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เป็นที่น่าเสียดายที่แถลงการณ์ของ WHO ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางประการ สำหรับบางประเด็นที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง กต.ไต้หวันขอชี้แจงดังต่อไปนี้


 

ตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ไต้หวันได้ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าร่วม WHO ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของประชาชนชาวไต้หวันกว่า 23 ล้านคน พร้อมคาดหวังที่จะสร้างคุณประโยชน์ทางความร่วมมือด้านการแพทย์และการป้องกันโรคระบาดให้กับประชาคมโลก ทั้งนี้ ไต้หวันขอแสดงการยอมรับที่สำนักเลขาธิการได้ปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดในประเด็นการเข้ามีส่วนร่วมของไต้หวัน ภายใต้เสียงเรียกร้องของมิตรประเทศทั่วโลกของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของ WHO เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ก็ยังมีบางประเด็นที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง กต.ไต้หวันจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงไว้ดังต่อไปนี้ พร้อมเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการของ WHO พิจารณาแก้ไขข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผลซึ่งกำหนดขึ้นสำหรับไต้หวัน อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง


 

ประการแรก ไต้หวันและ WHO ได้จัดตั้งช่องทางการติดต่อระหว่างกันภายใต้กรอบกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations, IHR) แต่ถึงแม้ว่าช่องทาง IHR ของไต้หวันจะมีบัญชีผู้ใช้ - รหัสผ่านที่สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์สถานการณ์ล่าสุด (Event Information Site, EIS) ภายในของ IHR ได้ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้อมูลที่ทางไต้หวันป้อนให้เพียงฝ่ายเดียว และทาง WHO ก็ไม่เคยแชร์ข้อมูลที่ได้รับจากทางไต้หวันเลย ยกตัวอย่างจากกรณีการแพร่ระบาดของ “โรคปอดอักเสบโควิด – 19” ในครั้งนี้ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาด ไต้หวันได้รายงานข้อมูลผู้ป่วยยืนยันทุกกรณีและมาตรการป้องกันโรคระบาด รวมถึงมาตรการควบคุมการเข้าออกเมืองตามแนวชายแดน ผ่านช่องทางการติดต่อของ WHO โดยทันที แต่สำนักเลขาธิการของ WHO กลับไม่เคยนำเสนอข้อมูลที่ไต้หวันส่งมอบให้แชร์ลงบนเว็บไซต์ EIS เลย อีกทั้งไม่เคยโพสต์ข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวกับไต้หวัน ลงใน “รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุด” (Situation Report) ที่ WHO อัปเดตเป็นประจำทุกวัน ส่งผลให้หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ไม่มีโอกาสได้ทำความเข้าใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดในไต้หวัน นโยบายการป้องกันและควบคุมการเข้าออกเมืองตามแนวชายแดนของไต้หวัน จากข้อมูลที่ได้รับจาก WHO ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แถลงการณ์ของ WHO ที่ระบุว่าต้องการเรียนรู้ผลสัมฤทธิ์จากทุกประเทศและเขตพื้นที่ รวมถึงไต้หวัน เพื่อแบ่งปัน "แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด" ให้กับประชาคมโลก ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


 

ประการที่ 2 ไต้หวันแม้จะเข้าร่วมใน “เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วโลกและระบบการป้องกันโรคระบาดทางสาธารณสุข” (Training Programs in Epidemiology and Public Health Interventions Network, TEPHINET) ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ความดูแลของ WHO แต่ตราบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถมีส่วนร่วมใน “เครือข่ายเตือนภัยและรับมือโรคระบาดทั่วโลก” (Global Outbreak Alert & Response Network, GOARN) ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของ WHO และถึงแม้ไต้หวันจะได้รับข้อมูลทางอ้อมผ่านทาง TEPHINET หรือข้อมูลการปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือจาก GOARN ที่ไม่ใช่แบบเรียลไทม์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไต้หวันได้เข้าร่วมใน GOARN เพราะฉะนั้น WHO ไม่ควรแอบอ้างว่านี่เป็นความร่วมมือระหว่าง WHO กับไต้หวัน


 

ประการที่ 3 เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา WHO ได้จัด “การประชุมสัมนาว่าด้วยการวิจัยนวัตกรรมระดับโลก” ซึ่งไต้หวันได้เรียกร้องให้ WHO เชิญผู้เชี่ยวชาญไต้หวันไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ กรุงเจนีวาอย่างกระตือรือร้น ถึงแม้ท้ายที่สุด WHO จะยอมรับให้ผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน 2 คนมีส่วนร่วม แต่ก็เข้าร่วมได้เพียงผ่านทางระบบออนไลน์เท่านั้น เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญไต้หวันไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนโดยตรงกับตัวแทนประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นสถานการณ์การแพร่ระบาด การป้องกันและการวิจัย หรือแม้แต่ไม่สามารถแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดในแนวหน้าของไต้หวัน ตลอดจนไม่มีโอกาสในการประชาสัมพันธ์เพื่อเปิดรับทุนสนับสนุนจากประเทศต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาวัคซีนและยาในการหยุดยั้งโรคระบาดในครั้งนี้


 

นับตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2019 บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุขไต้หวัน ได้สมัครขอเข้าร่วมการประชุมด้านเทคนิคทางการแพทย์ รวมทั้งหมด 187 ครั้ง แต่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมการประชุมเพียง 57 ครั้งเท่านั้น สัดส่วนที่ถูกปฏิเสธสูงถึงร้อยละ 70 แสดงให้เห็นว่าในการบริหารจัดการการประชุมด้านเทคนิคการแพทย์ สำนักเลขาธิการ WHO ก็ยังคงคำนึงถึงเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก


 

ผลสัมฤทธิ์ด้านการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของ "โรคปอดอักเสบโควิด - 19” ของไต้หวัน ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างกว้างขวางจากนานาประเทศทั่วโลก ตราบจนปัจจุบันสื่อต่างชาติกว่า 40 ประเทศ ได้มีการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับไต้หวันในแง่บวกมากกว่า 450 บทความแล้ว รัฐบาลไต้หวันขอแสดงความขอบคุณสำหรับเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกด้วยใจจริง พร้อมเรียกร้องต่อสำนักเลขาธิการ WHO อีกครั้งว่า ภายใต้สภาวการณ์ที่ทั่วโลกกำลังร่วมต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาด WHO ควรยึดมั่นในหลักการ “แสวงหามาตรฐานด้านสุขภาพขั้นสูงสุด เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ" ตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตร ละทิ้งซึ่งเหตุผลทางการเมือง เร่งยอมรับไต้หวันเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ทุกรายการ โดยเฉพาะในภารกิจการป้องกันโรคระบาด