ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
คณะทำงานเฉพาะกิจฯ จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งที่ 2 บูรณาการทรัพยากรของหน่วยงานทุกภาคส่วน บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19
2020-04-07

คณะทำงานเฉพาะกิจฯ จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจาก TECO)

คณะทำงานเฉพาะกิจฯ จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจาก TECO)

TECO วันที่ 28 มี.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand ,TECO) แถลงว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ทาง TECO ได้ประสานความร่วมมือกับตัวแทนนักธุรกิจไต้หวันในไทยจัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับนักธุรกิจไต้หวันในไทย เพื่อรับมือกับโรคโควิด – 19” (ชื่อย่อ คณะทำงานเฉพาะกิจฯ) และได้จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. โดยในการประชุม เจ้าหน้าที่คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้ร่วมหารือกันในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้สภาวการณ์ที่โควิด – 19 ยังคงลุกลามไปทั่วทุกพื้นที่อย่างรุนแรง อาทิ ทรัพยากรการป้องกันโรคระบาด ความต้องการทรัพยากรทางการแพทย์ คำชี้แนะในการพยุงธุรกิจฝ่าช่วงวิกฤตโรคระบาดและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ โรงงานของเหล่านักธุรกิจไต้หวันในไทย และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต เป็นต้น


 

สำหรับประเด็นดังกล่าวข้างต้น TECO ได้ชี้แจงรายละเอียดให้ตัวแทนนักธุรกิจไต้หวันรับทราบ ดังนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับเหล่านักลงทุนไต้หวันในต่างประเทศ โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงเศรษฐการไต้หวันได้ประกาศใช้คู่มือการรับมือกับโรคโควิด – 19 สำหรับองค์กรธุรกิจและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต


 

จากการที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ การให้บริการทางการแพทย์มีผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายของเหล่านักธุรกิจไต้หวันในต่างประเทศ รวมไปถึงข้อพิพาททางกฎหมายที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ นับเป็นประเด็นสำคัญที่คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งขณะนี้ทาง TECO กำลังเร่งติดต่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานทางการแพทย์ไทย - ไต้หวัน และกลุ่มอาสาสมัครนักกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งจะทยอยให้บริการคำปรึกษาด้านการแพทย์ไทย – ไต้หวันแบบเรียลไทม์ และให้คำแนะนำด้านกฎหมายเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน ผ่านช่องทางออนไลน์


 

นอกจากนี้ ในอนาคต “ชมรมตำรวจโรงงานสากล” จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจของไทย เพื่อช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตส่วนบุคคลและการดำเนินกิจการของเหล่านักธุรกิจไต้หวันในไทย ให้เป็นไปด้วยความราบรื่น อีกทั้ง “กองทุนค้ำประกันสินเชื่อต่างประเทศของไต้หวัน” (Overseas Credit Guarantee Fund (Taiwan) , OCGF) ได้จัดตั้งกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจให้กับบรรดานักธุรกิจไต้หวันในไทย โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่า TECO ได้บูรณาการทรัพยากรของหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือแก่บรรดานักธุรกิจไต้หวันที่เข้ามาขอความช่วยเหลืออย่างกระตือรือร้น


 

ในอนาคต คณะทำงานเฉพาะกิจฯ จะยังดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ TECO โดยจะบูรณาการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตามสถานการณ์การระบาดล่าสุดต่อไป พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่บรรดานักธุรกิจไต้หวันในไทยอย่างทันท่วงที ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมมาตรการรับมือกับโรคระบาด ตลอดจนช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากโรคระบาดในครั้งนี้