นายแพทย์โหยวเหรินต๋า อาจารย์ผู้บรรยายของสถาบัน AI และแพทย์ประจำโรงพยาบาล Tung's Taichung MetroHarbor Hospital พร้อมด้วย Ms. Annie (ขวา) วิทยากรพี่เลี้ยง ร่วมกันตอบข้อสงสัยของผู้เรียนชาวไทยผ่านช่องทางออนไลน์ (ภาพจาก III)
III วันที่ 7 เม.ย. 63
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. สถาบันอุตสาหกรรมสารสนเทศไต้หวัน (Institute for Information Industry, III) แถลงว่า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายแรกในการวางรากฐานธุรกิจของนักลงทุนชาวไต้หวันมาเป็นเวลานาน เพื่อดำเนินการตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน พร้อมทั้งขานรับกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่รัฐบาลไทยเร่งผลักดันอย่างกระตือรือร้นในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้การชี้แนะร่วมกันของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย และกรมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน สถาบันการศึกษาดิจิทัล (Digital Education Institute, DEI) ภายใต้ความดูแลของสถาบันอุตสาหกรรมสารสนเทศไต้หวัน (Institute for Information Industry, III) และบริษัท Advantech ร่วมกันจัดตั้ง “สถาบัน AI ไทย – ไต้หวัน” (Thailand – Taiwan AI College, TTAIC) ขึ้นที่ประเทศไทย ในวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะเป็นการบ่มเพาะบุคลากร AI ให้กับไทยแล้ว ยังเป็นการช่วยให้บริษัทของนักธุรกิจไต้หวันในไทย เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอีกด้วย
หลังจากที่สถาบัน AI ไทย – ไต้หวันพร้อมเปิดให้บริการหลักสูตรด้านนวัตกรรมและการบ่มเพาะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI แล้ว ทางบริษัท Advantechจึงได้ทำการเปิดรับสมัครกิจการที่มีความต้องการด้านเทคโนโลยี AI และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ โดยหลักสูตรที่เปิดสอนในครั้งแรกนี้ มีผู้สนใจแห่ลงทะเบียนกว่า 600คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีศาสตราจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทนักธุรกิจไต้หวันในไทย และเหล่าวิศวกร เป็นต้น
นายไช่อี้ชาง ผู้อำนวยการ DEI กล่าวว่า “สถาบัน AI ไทย – ไต้หวัน” ได้ทำลายกรอบจำกัดทางการศึกษาในรูปแบบเดิม ด้วยการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ (Live Streaming) มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนวิเคราะห์แนวโน้มทิศทางการพัฒนาของ AI กระตุ้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติการในทันที แล้วจึงเข้าสู่ช่วงถาม – ตอบกับอาจารย์ผู้สอน และทดสอบความรู้ที่เรียนมาผ่านการสอบย่อย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างคึกคักและเปี่ยมด้วยความน่าสนใจ
เดิม DEI กำหนดจะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนหลักสูตร AI ครั้งแรกในวันที่ 26 มี.ค. แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดการเดิมได้ ทาง DEI จึงตัดสินใจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เป็นสื่อกลางถ่ายทอดองค์ความรู้แทน ซึ่งตารางหลักสูตรในครั้งนี้ ประกอบด้วย การแพทย์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ การเงินอัจฉริยะ การค้าปลีกอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และการศึกษา เป็นต้น
ในตอนท้าย III เผยว่า หลักสูตรการสอนข้ามประเทศ ในรูปแบบรายการเรียลลิตี้โชว์ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้ ยังได้ดึงดูดตัวแทนประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ให้ความสนใจเจรจาติดต่อเพื่อร่วมดำเนินการด้วย นอกจากนี้ ตัวแทนของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน (National Taiwan University of Science and Technology, Taiwan Tech) ก็ได้เดินทางมาเก็บเกี่ยวความรู้ร่วมด้วย โดยวางแผนจะประสานความร่วมมือกับ DEI และขอนำหลักสูตรการศึกษาดังกล่าวไปใช้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่บรรดานักศึกษาต่างชาติกว่าพันคนในสถาบันฯ ตลอดจนในอนาคต จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) และมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University,NTNU) ร่วมเข้าเรียนในหลักสูตรข้างต้นนี้ด้วย