ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ความอร่อยที่การเคลื่อนที่ ข้าวกล่องรถไฟ รสชาติใหม่ในห้วงความทรงจำ
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-05-11

ร้านอาหารฝูจิ่ง ที่นำเอารถไฟมาใช้เป็นธีมหลัก

ร้านอาหารฝูจิ่ง ที่นำเอารถไฟมาใช้เป็นธีมหลัก
 

ซี่โครงหมูเป็นเมนูแบบดั้งเดิมของข้าวกล่องรถไฟไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีเมนูอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากทั่วไต้หวันมาเป็นส่วนผสม เพื่อสร้างสรรค์ข้าวกล่องที่มีความอร่อยและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เจ้าของร้านอาหารฝูจิ่ง (Fu Jing Restaurant) ผู้ซึ่งเป็นแฟนคลับรถไฟตัวยง ได้เปิดร้านอาหารขายข้าวกล่อง และยังเนรมิตร้านอาหารให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ ขบวนรถไฟสัตว์ป่าเขาหลีซาน (Satoyama Animal Train) ถูกตกแต่งภายในด้วยภาพระบบนิเวศ เพื่อให้ผู้คนได้รู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น รถไฟได้บรรทุกความทรงจำ ความคิดถึงบ้านและอุดมการณ์ของผู้คนมากมาย อีกทั้งยังทำหน้าที่ส่งต่อเรื่องราวดีๆ ด้วย

 

เมื่อเปิดข้าวกล่อง จะได้กลิ่นหอมของซี่โครงหมูพะโล้ ไข่พะโล้ลูกกลมโตเนื้อเด้ง บวกกับกลิ่นหอมอ่อนๆ ของข้าวสวยร้อนๆ รสชาติแห่งความทรงจำในอดีตเหล่านี้ได้ถูกจารึกไว้ในใจของชาวไต้หวันมาอย่างยาวนาน

 

สูตรลับความอร่อยของข้าวกล่องรถไฟไต้หวัน

ข้าวกล่องไต้หวันมีราคาไม่แพง ให้ความใส่ใจในการเลือกสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ยกตัวอย่างข้าวกล่องซี่โครงหมูราคา 60 เหรียญไต้หวัน ของร้านอาหารรถไฟไทเป ภายในกล่องข้าวสี่เหลี่ยมมีซี่โครงหมู 1 ชิ้น ไข่พะโล้ 1 ลูก ยังมีฟองเต้าหู้ 1 แผ่น กับกะหล่ำปลี และข้าวสวยที่อัดแน่นมาเต็มกล่อง ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูงขนาดนี้ยังสามารถหาอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนแบบนี้ได้ในราคาเพียง 60 เหรียญไต้หวัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีจริงๆ

ความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบที่สดและมีคุณภาพสูงเป็นกุญแจสู่ความอร่อยของข้าวกล่องรถไฟ อย่างข้าว จะเลือกข้าวสารไต้หวันที่ได้รับมาตรฐานเกรด A โดยมีการสั่งซื้อข้าวสารใหม่ทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อรักษามาตรฐานความสดใหม่ วิธีการหุงข้าวก็จะถูกปรับไปตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวของข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวที่หุงออกมาเละหรือแข็งเกินไป การใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นี่เอง จึงไม่แปลกใจเลยที่แม้ว่าข้าวกล่องรถไฟจะเย็นแล้ว แต่ข้าวสวยไม่แห้ง ไม่แข็ง ไม่ทำลายรสชาติความอร่อยของข้าวกล่อง

วิธีการทำซี่โครงหมู ซับซ้อนแต่บรรจงทำทุกขั้นตอน คุณอวี๋สวินอัน (余巡安) กล่าวว่า ซี่โครงหมูแต่ละชิ้น จะต้องทุบจากด้านในออกไปด้านนอก 5-6 ครั้ง เพื่อทำให้กระดูกซี่โครงหัก แล้วทำการหมัก นวด จากนั้นจึงนำไปทอดก่อน แล้วค่อยนำไปทำพะโล้ ปริมาณการผลิตของร้านอาหารรถไฟไทเปอยู่ที่ 12,000 ชิ้นต่อวัน ในแต่ละวันจะมีพนักงาน 2 คน รับหน้าที่ทุบซี่โครงหมูตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ปริมาณมากมายขนาดนี้จึงไม่แปลกใจที่คุณอวี๋สวินอันจะพูดติดตลกว่า จนถึงวันนี้ ไม่รู้เขียงถูกทุบเสียไปจำนวนเท่าไรแล้ว

 

รสชาติใหม่ของข้าวกล่องรถไฟไต้หวัน

ร้านอาหารของการรถไฟในแต่ละแห่งได้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหาร ตัวอย่างเช่น ข้าวกล่องเป็ดเชอร์รี อี๋หลาน ที่ศูนย์บริการสถานีรถชีตู่ ส่วนผสมในข้าวกล่องประกอบไปด้วย เป็ดเชอร์รีจากเมืองอี๋หลาน ส้มจี๊ด และยังมีไข่เจียวหัวไชโป๊กับต้นหอมซานซิง ซึ่งการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ นอกจากจะช่วยลดมลพิษจากการขนส่งสินค้าแล้ว ยังเป็นการคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นในแต่ละพื้นที่ไว้ด้วย เมนูพิเศษเหล่านี้ไม่ได้มีขายบนรถไฟ หากอยากจะลิ้มรสความอร่อย ต้องเดินทางไปถึงร้านขายข้าวกล่องตามที่ต่างๆ อีกทั้งแต่ละวันจะผลิตในจำนวนจำกัด ทำให้บ่อยครั้งที่นำออกวางขายได้ไม่นานก็หมดแล้ว จนมักจะถูกชาวเน็ตขนานนามว่า ข้าวกล่องฉบับซ่อนเร้น

ในงานนิทรรศการหรืองานเฉลิมฉลองเทศกาล การรถไฟไต้หวันจะมีการแนะนำเมนูข้าวกล่องรถไฟที่มีจำนวนจำกัด อย่างเช่น เทศกาลข้าวกล่องรถไฟไต้หวันครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ร้านอาหารรถไฟแต่ละพื้นที่ต่างคิดสรรค์เมนูข้าวกล่องรถไฟที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมานำเสนอมากมาย ร้านอาหารรถไฟไทจงนำเสนอข้าวกล่องน่องไก่ย่างโพรวองซ์ ส่วนร้านอาหารรถไฟฮัวเหลียนนำเสนอข้าวกล่องไก่ย่างพริกไทย แต่ละเมนูที่คิดค้นออกมาได้แสดงถึงเทคนิคการทำอาหารและความคิดสร้างสรรค์ของพ่อครัว แม้ในงานเทศกาลข้าวกล่องรถไฟจะมีผู้ประกอบการข้าวกล่องรถไฟของญี่ปุ่นกว่า 20 ราย มาร่วมจัดแสดง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความน่าสนใจของข้าวกล่องรถไฟไต้หวันลดน้อยลงแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่อยากรับประทานข้าวกล่องรถไฟไต้หวัน นอกเหนือจากการขึ้นรถไฟแล้ว ยังสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายข้าวกล่องตามสถานีรถไฟหลักๆ ในหลายพื้นที่ บางสถานียังมีการดีไซน์กล่องข้าวเป็นรูปรถไฟ เพื่อสร้างจุดขายดึงดูดผู้บริโภคด้วย

 

อุโมงค์เวลาของการรถไฟ

นั่งรถไฟมาถึงสถานีเซ่อโถว เดินออกจากสถานีตรงไปประมาณ 500 เมตร ก็จะเห็นสัญญาณไฟจราจรจุดตัดทางรถไฟปรากฏอยู่ตรงหน้า ด้านข้างมีป้ายคล้ายกับป้ายสถานีรถไฟเขียนเป็นชื่อสถานีว่า ฝูจิ่ง (福井) สถานีถัดมาที่อยู่ใกล้ๆ กันคือสถานีซิ่งฝู (幸福) กับสถานีผิงอัน (平安) ที่นี่เป็นร้านฝูจิ่งในธีมของทางรถไฟ จากภายนอกที่เป็นรูปลักษณ์ของรถไฟสีน้ำเงิน เมื่อเดินผ่านประตูอัตโนมัติเข้าไปในร้าน ก็จะสะดุดตากับเก้าอี้รถไฟที่คลุมด้วยหนังสีเขียวเข้ม บนผนังมีชั้นเหล็กสำหรับวางกระเป๋าสัมภาระ กำแพงถูกทาสีให้กลายเป็นต้นไม้สีเขียวที่มองเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟ ประกอบกับแต่ละที่นั่งยังมีการระบุหลายเลขที่นั่งและที่วางแก้ว ดังนั้นเมื่อเข้าไปนั่งในร้านอาหารแล้ว ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนรถไฟที่เป็นภาพลวงตา การสร้างบรรยากาศทั้งหมดด้วยความละเอียดประณีตเช่นนี้ เพราะคุณเฉินเฉาเฉียง (陳朝強) เจ้าของร้านอาหารฝูจิ่งเป็นแฟนคลับตัวยงของการรถไฟนั่นเอง

พรหมลิขิตของคุณเฉินเฉาเฉียงกับรถไฟเริ่มมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ภายในครอบครัวมีคุณปู่ น้องคุณปู่ 2 คน และคุณพ่อ ที่ล้วนทำงานเป็นพนักงานขับรถไฟ ตัวเขาเองก็เกิดและอาศัยอยู่ที่หอพักของการรถไฟเอ้อสุ่ย เขาจึงเติบโตมาพร้อมกับเสียงรถไฟประเภทต่างๆ เขารักรถไฟ สำหรับเขารถไฟก็เหมือนกับลมหายใจที่เป็นธรรมชาติ

ตอนแรกเพียงแค่เห็นโมเดลรถไฟก็จะซื้อกลับมาที่บ้าน จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายวงกว้างไปยังส่วนอื่นของรถไฟ ทั้งเหล้าที่ระลึก กระเป๋าทำงานของพนักงานรักษารถไฟ อะไหล่รถไฟที่ปลดประจำการแล้ว เป็นต้น ทั้งหมดกลายเป็นของสะสมของคุณเฉินเฉาเฉียง

ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพ่อแม่ ทำให้คุณเฉินเฉาเฉียงตัดสินใจกลับไปสร้างธุรกิจที่บ้านเกิดหลังปลดประจำการจากกองทัพ ในสมัยที่เป็นนักเรียนได้สะสมประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานในร้านอาหาร ประกอบกับตัวเขามีความรักในรถไฟมากๆ จึงเปิดร้านอาหารที่มีการตกแต่งในธีมของรถไฟขึ้นมา

 

ขายข้าวกล่อง สานฝันทางรถไฟ

ร้านอาหารฝูจิ่งเน้นให้บริการประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก คุณเฉินเฉาเฉียงจำหน่ายอาหารในราคาคุ้มค่าคุณภาพ เจ้าของร้านซึ่งเป็นทั้งพ่อครัวในคนเดียวกัน ได้คัดสรรวัตถุดิบในท้องถิ่นมาทำเป็นกับข้าวเมนูต่างๆ ในแต่ละวัน และยังมีเมนูหลักกว่า 10 อย่าง อาทิ ซี่โครงหมู, หมูสามชั้น, น่องไก่ และปลานวลจันทร์ เป็นต้น

เมื่อมารับประทานอาหารที่ร้านฝูจิ่งต้องไม่พลาดที่จะขึ้นไปบนชั้น 2 และ ชั้น 3 ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟฝูจิ่ง ที่จัดแสดงสิ่งของเกี่ยวกับรถไฟที่คุณเฉินเฉาเฉียงเก็บสะสมมาเป็นเวลา 30 ปี มีทั้งคู่มือตารางเวลารถไฟในยุค 1960 ใบลงชื่อของพนักงานขับรถไฟ, ป้ายไม้ขนาดใหญ่ที่เขียนชื่อสถานีรถไฟ, ประตูไม้ที่เป็นช่องขายตั๋วรถไฟ รวมถึงแผนภาพวิศวกรรมทางรถไฟในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองไต้หวัน สิ่งเหล่านี้เป็นโบราณวัตถุที่เป็นประจักษ์พยานของการพัฒนาการรถไฟ ที่คุณเฉินเฉาเฉียงใจกว้างเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ฟรี

ไม่เพียงเก็บรวบรวมวัตถุโบราณทางวัฒนธรรม แต่คุณเฉินเฉาเฉียงยังซื้อรถไฟตรวจทางรุ่น 135 ของบริษัท Taiwan Sugar Corporation ซึ่งคุณเฉินเฉาเฉียงใช้เวลา 762 วัน กับเงินจำนวน 500,000 เหรียญไต้หวัน ซ่อมแซมผลงานชิ้นเอก เดิมทีรถไฟตรวจทางนี้จะถูกโละทิ้งเป็นเศษเหล็ก ตัวถังรถมีสนิมเกาะเต็ม เครื่องยนต์ด้านในก็เสียหาย คุณเฉินเฉาเฉียงจึงได้พาคุณจันหย่งฟู่ (詹永富) เจ้าของโรงงานผลิตรถบัสที่มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงรถบัสมาช่วยทำการซ่อมรถไฟ ตั้งแต่การขัดสนิม, เพิ่มโครงสร้างด้านใน และค่อยประกอบแผ่นโลหะด้านนอกทีละเล็กทีละน้อย และจากการร่วมแรงร่วมใจของทั้งคู่ จึงสามารถชุบชีวิตใหม่ให้กับรถไฟตรวจทางขบวนนี้ ทั้งยังพารถไฟที่อายุเก่าแก่ถึง 63 ปี กลับมาที่โรงงานน้ำตาลซีหู จากคำพูดที่ส่งต่อถึงกันแบบปากต่อปาก ก็ทำให้ร้านอาหารฝูจิ่งแห่งนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่บรรดาแฟนคลับรถไฟไต้หวัน-ญี่ปุ่นไม่ควรพลาด

 

อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

รถไฟกับมนุษย์เหมือนมีพรหมลิขิตดึงดูดให้เข้ามาหากัน และยังเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับระบบนิเวศทางธรรมชาติด้วย
กรมป่าไม้ไต้หวันกับการรถไฟไต้หวันจึงร่วมกันส่งเสริมขบวนรถไฟสัตว์ป่าที่เรียกว่า Satoyama Animal Train โดยภายนอกโบกี้รถไฟขบวนนี้มีการใช้สีสันมาแต่งแต้มให้เป็นลวดลายของผืนป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ แม่น้ำลำธาร ทุ่งนาและพื้นที่ชุ่มน้ำ ชนบทและหมู่บ้านชนพื้นเมือง เป็นการรวมธรรมชาติ 4 แบบกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่า วาดออกมาเป็นลวดลายแสนน่ารักบนรถไฟ เพื่อแสดงถึงการยินดีต้อนรับผู้มาเยือนสู่เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ด้านในโบกี้รถไฟมีการใช้วัสดุในประเทศมาแกะสลักเป็นหุ่นจำลองแมวดาวแอบอยู่ตรงที่นั่งผู้โดยสาร เมื่อแหงนศีรษะขึ้นไปจะเห็นไม้แกะสลักเป็นรูปนกห้าสี รถไฟ Satoyama Animal ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิดที่เด็กๆ ชื่นชอบขบวนนี้ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องให้บริการเฉพาะเส้นทางท่องเที่ยวเท่านั้น แต่การนำรถขบวนรถไฟออกมาใช้งานนั้นจะถูกปรับเปลี่ยนไปในแต่ละวันตามความเหมาะสม จึงสร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนผู้โดยสารรถไฟที่บังเอิญพบเห็นได้เสมอ

Satoyama ไม่ใช่ชื่อสถานที่ แต่หมายถึงภูเขาที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลไม่มาก มีเนินเขา ที่ราบ มีป่าไม้ แม่น้ำลำธาร และทุ่งนาสลับแซมกันอยู่ ดังนั้นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศแบบนี้จะถูกเรียกว่า Satoyama Animal มนุษย์เราได้บุกเบิกเป็นที่อยู่อาศัย มีการตัดถนน ทำให้พื้นที่อาศัยดั้งเดิมของสัตว์ป่าถูกทำลายและตัดแยกออกจากกัน จนกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการโยกย้ายถิ่นของสัตว์ และอาจทำให้สัตว์ต้องเสียชีวิตจากการข้ามถนน หรืออาจเข้าไปกินอาหารที่มีการใช้สารเคมีอันตรายและยาฆ่าแมลงในพื้นที่เกษตรของมนุษย์ได้ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดโครงการ National Green Network ในไต้หวันขึ้นมา

กรมป่าไม้ร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ สร้างทางเดินให้สัตว์ป่าจากริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก หรือทำการติดตั้งตาข่ายริมทางด่วนเพิ่มเติม หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์วิ่งข้ามถนน และยังใช้ตาข่ายเป็นตัวนำทางให้สัตว์สามารถเดินข้ามสะพานลอยหรือเดินลอดอุโมงค์ใต้ดินเพื่ออพยพย้ายถิ่นได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังสนับสนุนให้ประชาชนทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรดาสัตว์ทั้งหลายมีชีวิตอยู่รอดได้ตามธรรมชาติ

หากรับชมคลิปวิดีโอหรือสแกน QR code บนรถไฟขบวนนี้ จะได้รู้จักกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกับเราบนผืนแผ่นดินเดียวกันนี้ ดั่งเช่นที่มีนักเขียนนามว่าหลิวเค่อเซียง (劉克襄) ได้กล่าวในคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์เทศกาลข้าวกล่องรถไฟครั้งที่ 5 ว่า เมื่อเขาโดยสารรถไฟ แน่นอนว่าจะต้องรับประทานข้าวกล่องรถไฟ กินไปชมวิวไป และลงที่สถานีเล็กๆ ซึ่งมีผู้คนไม่มาก จากนั้นเดินไปเรื่อยๆ ปีนเขาขึ้นไปจนถึงบริเวณสันเขา เพื่อชมวิวทิวทัศน์โดยรอบว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง หรือจะนั่งรถไฟขบวน Satoyama Animal เข้าสู่ธรรมชาติ สัมผัสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อเริ่มต้นการเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยความงดงาม