TECO และ NHRI ร่วมจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางการแพทย์เพื่อป้องกันโรคระบาดระหว่างไต้หวัน - ไทย ผ่านช่องทางออนไลน์
TECO วันที่ 17 เม.ย. 63
เพื่อประชาสัมพันธ์ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ให้ประชาคมโลกได้รับทราบมากขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand ,TECO) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสาธารณสุขแห่งชาติของไต้หวัน (National Health Research Institutes, NHRI) ในการจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ไทย ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารขึ้น โดยได้ร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ในการต่อกรกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่เกิดจากความร่วมมือของ NHRI ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการที่เกี่ยวข้องในไต้หวัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ รวมถึงเหล่าผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางการแพทย์ของไทย เพื่อสกัดกั้นวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพันธมิตรที่ร่วมจัดการประชุมแบบออนไลน์กับ TECO ในครั้งนี้ คือ NHRI ซึ่งนายเหลียงเกิงอี้ ผู้อำนวยการ NHRI ได้นำเจ้าหน้าที่ในสถาบันฯ ชี้แจงถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการวิจัยและพัฒนายาตัวใหม่ ทีสามารถใช้ในการป้องกันโรคระบาดของทางสถาบันฯ ในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ดร.ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย และประธานในการประชุมครั้งนี้ กล่าวขณะปราศรัยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากไต้หวันได้กำหนดนโยบายการป้องกันโรคระบาดที่ทันการ ว่องไว และโปร่งใส พร้อมทั้งประยุกต์ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด รวมทั้งผสมผสานข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรทางเทคโนโลยีและระบบการแพทย์สาธารณสุข ตลอดจนประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จึงเป็นบทพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า การสกัดกั้นโรคระบาดในไต้หวันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินการตามมาตรการตรวจคัดกรองและติดตามตัวผู้ป่วยยืนยันที่รัดกุมและเข้มงวด ซึ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกที่รุนแรงแล้ว ไต้หวันนับว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ดร.ถงฯ ชี้แจงว่า TECO ห่วงใยต่อสถานการณ์การระบาดล่าสุดในไทยเป็นอย่างมาก การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาให้ประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังอาจสร้างภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของเหล่านักธุรกิจชาวไต้หวันในไทยอีกด้วย ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไต้หวันในไทยมีจำนวน 5,000 ราย และมีชาวไต้หวันที่พำนักในไทยอีกกว่า 150,000 แสนคน ในช่วงเวลาที่คับขันเช่นนี้ TECO จึงต้องการที่จะผนึกกำลังกับทุกแวดวงที่เกี่ยวข้องระหว่างไต้หวัน – ไทย เพื่อร่วมเผชิญหน้าแก้ปัญหาไปพร้อมกับชาวไทย
ดร.ถงฯ เน้นย้ำว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน สะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันมีศักยภาพ และยินดีร่วมป้องกันโรคระบาด พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลกด้วย ซึ่งนอกจากไต้หวันจะสามารถบริจาคทรัพยากรทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัยให้แล้ว ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ไต้หวันสามารถแบ่งปันประสบการณ์การบริหารระบบสาธารณสุข และประสานความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีการป้องกันโรคระบาดกับไทย ซึ่งครอบคลุมไปถึง เทคโนโลยีการแพทย์แบบดั้งเดิม และนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ดังนั้น TECO จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน เทคโนโลยีการตรวจคัดกรอง ยารักษาโรค การวิจัยวัคซีน เป็นต้น ถือเป็นที่จับตามองของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาควิชาการของไทยเป็นอย่างมาก อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนด้านการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทยต่อไปในอนาคต
ผอ.เหลียงฯ ประธานร่วมในการประชุมฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไต้หวันได้ผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นต้นมา NHRI และหน่วยงานด้านการแพทย์และเภสัชที่เกี่ยวข้องของไทย ก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างใกล้ชิด โดย NHRI หวังว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันโรคระบาดกับไทยด้วย โดยในระหว่างการประชุม เหล่านักวิจัยได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์สำคัญๆ ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนา อาทิ นวัตกรรมระบบตรวจคัดกรองเชื้อโควิด – 19 และยาที่ใช้ในการรักษา ซึ่งเจ้าหน้าที่วิจัยในห้องทดลองได้ประยุกต์ใช้บนพื้นฐานของระบบภูมิคุ้มกันที่ใช้ในการต้านโรคซาร์ส (SARS) คัดเลือกสารภูมิคุ้มกัน ชนิดที่สามารถระบุเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้ เพื่อใช้ในการพัฒนาชุดตรวจคัดกรองของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่มีความแม่นยำมากขึ้น
ในด้านการวิจัยและพัฒนายารักษาโรค ทางสถาบันฯ ได้ประยุกต์ใช้ประสบการณ์ในการต่อกรกับโรคซาร์สในปี 2013 และการสังเคราะห์ยาทามิฟลู (Tamiflu) ที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ในปี 2005 โดยได้ทุ่มทุนในภารกิจการสังเคราะห์ตัวยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) จากบริษัท Gilead Science ของสหรัฐฯ อย่างเต็มที่
TECO แถลงว่า เพื่อดำเนินการตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลไต้หวัน TECO จึงได้จัดตั้ง “แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทย” ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2018 เป็นต้นมา ซึ่งสามารถติดต่อผ่านช่องทาง LINE ID : TaiwanMED โดยช่องทางดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยประสานความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการแพทย์ไต้หวัน – ไทย และหน่วยงานด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทยต่อไป