ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทย ช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรป ด้วยการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานด้านนวัตกรรมการแพทย์ระดับนานาชาติ
2020-05-05

ศูนย์เทคโนโลยีทางการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทย ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีและพหุภาคี ในภาพคือสมาชิกของศูนย์ดังกล่าวได้ถ่ายภาพร่วมกัน ขณะที่เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ในกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงที่ผ่านมา (ภาพจาก MOST)

ศูนย์เทคโนโลยีทางการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทย ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีและพหุภาคี ในภาพคือสมาชิกของศูนย์ดังกล่าวได้ถ่ายภาพร่วมกัน ขณะที่เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ในกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงที่ผ่านมา (ภาพจาก MOST)

MOST วันที่ 1 พ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Ministry of Science and Technology, MOST) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ทางกระทรวงฯ ได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้กับโรงพยาบาลผิงตงคริสเตียน (Pingtung Christian Hospital, PTCH) ในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านการแพทย์ เทคโนโลยี และการพัฒนาด้านมนุษยศาสตร์ ระหว่างไต้หวัน - ไทย” (Taiwan-Thailand Medical Tech., Science & Humanities Development Center) โดยได้ผนวกรวมทรัพยากรของประเทศตามเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ในการนำเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาดนับหมื่นชิ้นไปบริจาคให้กับสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรป ซึ่งศูนย์วิจัยร่วมระหว่างไต้หวัน – ไทย ได้นำเอาทรัพยากรที่ผลิตในไต้หวันเป็นหลัก ผนึกกำลังร่วมกับนักธุรกิจไต้หวันในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ไม่รุนแรงมากนัก อย่างไทยและเวียดนาม เพื่อส่งเสริมให้อุปสงค์และอุปทานในตลาดให้เกิดความสมดุล ผ่านแพลตฟอร์มทางการเงินและการค้าเสรีในกัมพูชา


 

พื้นฐานการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานด้านการแพทย์ในช่วงวิกฤตโรคระบาด คือการผนวกข้อได้เปรียบทางการแพทย์ของไต้หวันเข้ากับทรัพยากรของสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป เพื่อบรรลุเป้าหมายในการช่วยบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์ และพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะนี้สหรัฐและประเทศในยุโรปกำลังอยู่ในระหว่างการต่อกรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) อย่างขมักเขม้น ทางบริษัท Chien Kang Ya Chou CO., LTD. จึงได้ริเริ่มผนึกกำลังร่วมกับประเทศอาเซียนที่มีการแพร่ระบาดไม่รุนแรงมากนัก ในการร่วมกันจัดตั้งแพลตฟอร์มบริจาคเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาดให้กับสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป


 

คณะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เกิดจากการรวมตัวกัน ระหว่างรพ. PTCH และบริษัท Chien Kang Ya Chou ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถหยั่งรู้ทิศทางในอนาคตได้ ดร. ฟ่านซือซ่าน หัวหน้าคณะแพทย์ฯ ได้ตัดสินใจนำเจ้าหน้าที่พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทั่วไปเดินทางไปประจำการที่กรุงพนมเปญ เพื่อช่วยสกัดกั้นโรคระบาดในกัมพูชา พร้อมทั้งให้การดูแลนักธุรกิจไต้หวันในพื้นที่ โดยเฉพาะประยุกต์ใช้ระบบการแพทย์ทางไกลและบริการด้านการดูแลสุขภาพบนคลาวด์ของสมาร์ทคลินิก ประกอบกับการจัดส่งพัสดุยารักษาโรคข้ามประเทศ ทั้งนี้ เพื่อลดความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นการลดภาระให้แก่ระบบการดูแลทางการแพทย์ ตลอดจนช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกของภาคประชาชนไปในตัว


 

ศูนย์วิจัยร่วมระหว่างไต้หวัน – ไทยได้กระตุ้นให้เกิดการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียนและกลไกการตอบแทนสู่สังคมในสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรปของไต้หวัน ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการบูรณาการทรัพยากรทั้งในและต่างประเทศ พร้อมนี้ยังได้ค้นพบรูปแบบใหม่ของกระบวนการผลิตหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และยุคของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ จากการที่กัมพูชาเป็นประเทศที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปในอนาคต ดังนั้น ศูนย์วิจัยร่วมระหว่างไต้หวัน – ไทยจะเร่งประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาควิชาการต่อไป โดยประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศผนวกเข้ากับการแพทย์ของไต้หวัน ขยายฐานการวิจัยแห่งชาติด้านระบบสาธารณสุขและการแพทย์อัจฉริยะของไต้หวันไปยังกัมพูชา ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับทางเทคโนโลยีและช่วยบ่มเพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เสริมสร้างให้กัมพูชาเป็นฐานความร่วมมือด้านการวิจัยทางการแพทย์ของไต้หวันแห่งใหม่ในประเทศตามเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ต่อไป