เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา กต.ไต้หวันได้แถลงที่จะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ “แถลงการณ์ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด–19) ของเหล่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าในกลุ่มเอเปค” (ภาพจาก APEC)
MOFA วันที่ 10 พ.ค. 63
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกทั้ง 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย - แปซิฟิก (APEC) ได้ร่วมกันประกาศ “แถลงการณ์ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าเอเปค” โดยได้ระบุถึงการเฝ้าจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและสุขภาพของมวลมนุษยชาติ พร้อมเรียกร้องให้ทุกเขตเศรษฐกิจของเอเปค เร่งประสานความร่วมมือกันอย่างครอบคลุมในทุกด้าน ซึ่งเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้แสดงความยินดี พร้อมให้ความสนับสนุนในการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในเชิงลึกอย่างเต็มที่ต่อไป
แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง การจับตาต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดอย่างใกล้ชิด และจุดยืนของการกำหนดนโยบายในการรับมืออย่างเร่งด่วนของเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งรวมไปถึง การสนับสนุนให้เอเปคเสริมสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council, ABAC) เป็นต้น ทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนและเศรษฐกิจดิจิทัลที่สมบูรณ์ ตลอดจนเรียกร้องให้เขตเศรษฐกิจร่วมเสริมสร้างให้เกิดองค์กรความร่วมมือระหว่างเอเชีย – แปซิฟิกที่มีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และยอมรับซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวยังเน้นย้ำถึง ความสำคัญในการสร้างหลักประกันด้านการเปิดตลาดการค้า ตลอดจนสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในด้านการค้า อันเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพและมีความเป็นธรรม ไร้ซึ่งการแบ่งแยก โปร่งใส คาดการณ์ได้ และมีเสถียรภาพ พร้อมเรียกร้องให้เขตเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นฟูการขนส่งและเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ทั้งในส่วนของเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาดที่จำเป็น การให้บริการ และบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ทุกประเทศที่มีการกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาด ใช้มาตรการที่เป็นแบบชั่วคราว มีความเฉพาะเจาะจง โปร่งใส และสอดคล้องกับสัดส่วนที่เกิดขึ้น
ในแถลงการณ์ยังได้ระบุถึง ผลกระทบของโควิด–19 ต่อภาคอุตสาหกรรมและแรงงานของเขตเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะซบเซา โดยบรรดารมว.การค้าเอเปคได้เรียกร้องให้ทุกเขตเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายที่ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน ให้ความสนับสนุนทางเศรษฐกิจต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน ตลอดจนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาคึกคักโดยเร็ว
ภายใต้สภาวการณ์ที่โรคโควิด–19 แพร่ระบาดสู่ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของมวลมนุษยชาติ นอกจากไต้หวันจะให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและแบ่งปันประสบการณ์แก่ประชาคมโลกแล้ว ยังเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมของ APEC และองค์การระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้น โดยนำเอาประสบการณ์ในการป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน มาแบ่งปันให้แก่ประชาคมโลกด้วยความเต็มใจ ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดโควิด–19 เพื่อร่วมเสริมสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความยืดหยุ่น ให้เกิดแก่ภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิกสืบไป