ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
พิธีเปิดตัวประติมากรรมสำริด ภายใต้ชื่อ “ดวงใจไต้หวัน สานสัมพันธ์ไทย”
2020-05-11

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา TECO จัดพิธีส่งมอบประติมากรรมสำริด ภายใต้ชื่อ “ดวงใจไต้หวัน สานสัมพันธ์ไทย” (ภาพจาก TECO)

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา TECO จัดพิธีส่งมอบประติมากรรมสำริด ภายใต้ชื่อ “ดวงใจไต้หวัน สานสัมพันธ์ไทย” (ภาพจาก TECO)

TECO วันที่ 7 พ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand ,TECO) แถลงว่า อาคารสำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทยแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดให้บริการแก่ภาคประชาชนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2019 โดยอาคารสำนักงาน TECO แห่งนี้ เป็นอาคารแห่งแรกในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดซื้อและถือครองโฉนดที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินภารกิจตามเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนให้บริการที่มีคุณภาพแก่ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยอย่างเต็มศักยภาพต่อไป


 

เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัวอาคารสำนักงานTECO แห่งนี้ เมื่อช่วงที่ผ่านมา นายไช่จงเฉิง คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล นางกัวซิวหมิ่น นายกสมาคมการค้าไทย – ไต้หวัน ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อจัดทำงานประติมากรรมสำหรับมอบเป็นที่ระลึกให้แก่ TECO ซึ่งภายในเวลาไม่กี่วัน ก็สามารถรวบรวมทุนสนับสนุนจากมิตรสหายชาวจีนโพ้นทะเลได้ถึง 299 คน พร้อมกำหนดให้ผลงานประติมากรรม ภายใต้โครงการบริจาคในครั้งนี้ มีชื่อว่า “ดวงใจไต้หวัน สานสัมพันธ์ไทย” เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ไทย ที่เปรียบเสมือนพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน และพร้อมจะจับมือก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน ซึ่งผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ ได้ออกแบบและควบคุมการจัดทำโดยดร. หลินเหวินไห่ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยตงไห่ (Tunghai University, THU) ซึ่งขณะนี้ ผลงานชิ้นดังกล่าวได้ส่งตรงถึงกรุงเทพฯ และทำการประดับไว้ในจุดที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา


 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีส่งมอบงานประติมากรรมขึ้น ณ บริเวณลานกว้างหน้าอาคารสำนักงานฯ โดยได้ติดต่อเชิญคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเลทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย และผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลมาเข้าร่วมเฉลิมฉลอง และเป็นสักขีพยานร่วมกัน ซึ่งกำหนดการต่างๆ ของพิธีในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบวงสรวง การเปิดม่านจัดแสดงผลงานประติมากรรม และถ่ายภาพหมู่ เป็นต้น ในงานครั้งนี้ นายอวี๋เซิงชิง นายกสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลแห่งประเทศไทย ยังได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนมอบมาสคอตนำโชคให้แก่ดร. ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการก้าวไปสู่หลักชัยใหม่ของสำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย พร้อมกล่าวอวยพรให้การดำเนินการของ TECO เป็นไปอย่างราบรื่นตลอดไป


 

ในพิธีส่งมอบครั้งนี้ ดร. ถงฯ ได้ตอบรับเข้าร่วมตามคำเชิญพร้อมกล่าวแสดงความขอบคุณผู้จัดงาน ผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางมาเข้าร่วม และชาวจีนโพ้นทะเลทุกคนที่มีส่วนร่วมในการบริจาคและให้ความสนับสนุนในครั้งนี้ อีกทั้งชี้แจงว่าประติมากรรมสำริด ซึ่งมีชื่อว่า “ดวงใจไต้หวัน สานสัมพันธ์ไทย” ออกแบบเป็นรูปทรงของใบโพธิ์ ที่สอดรับกับต้นโพธิ์ที่ตั้งอยู่ด้านหลังของอาคารสำนักงานฯ สื่อให้เห็นถึง ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาหลักที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไต้หวัน – ไทยมาอย่างช้านาน จึงขอใช้โอกาสนี้น้อมจิตอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักษ์คุ้มครองชาวไต้หวัน – ไทย ให้อยู่เย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า ส่วนมือทั้งสองที่จับประสานกัน อันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ไทย ที่เปรียบเสมือนประเทศพี่น้อง ที่ร่วมประสานกำลังเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ส่วนบริเวณโคนใบโพธิ์นั้นเป็นดินแดนภูมิประเทศของไต้หวัน สื่อให้เห็นว่าชาวไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลมีที่มาจากไต้หวัน มีจิตใจที่เชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับไต้หวัน ไต้หวันเป็นเป็นแหล่งพึ่งพิงและเป็นบ้านเกิดของชาวไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักในต่างแดน แต่ใบโพธิ์ใบนี้ตั้งรากฐานอยู่ที่ไทย แสดงให้เห็นถึงการตั้งรากฐานธุรกิจของชาวไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลที่ไทย และแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ขยายไปทั่ว ซึ่งเปรียบได้กับความร่วมมือของบรรดานักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเล ในการตอบแทนสังคมไทย หลังจากที่ได้ประสบความสำเร็จในการประกอบกิจการในประเทศไทยแล้ว


 

ดร. ถง ฯ เน้นย้ำว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา TECO ได้เร่งผลักดันนวัตกรรมทางเทคโนโลยี 5 ประการ ประกอบด้วย การทูตดิจิทัล การบูรณาการและรวบรวมข้อมูลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การตอบสนองความต้องการของนักธุรกิจไต้หวันในไทย รวมไปถึงการปฏิรูปนวัตกรรมและการบูรณาการในการประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันได้ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีข้างต้น มาใช้เสริมสร้าง 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก อาทิ กิจการทางภาครัฐ การค้าและส่งออก เทคโนโลยี การศึกษา การแพทย์ การเกษตร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น ในตอนท้าย ดร.ถงฯ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลและชาวจีนโพ้นทะเล สำหรับความช่วยเหลือและการสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เชื่อมั่นว่าในอนาคต ภายใต้ความร่วมมืออันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวจีนโพ้นทะเล “ดวงใจไต้หวัน สานสัมพันธ์ไทย” จะสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – ไทย ให้พัฒนาไปอีกขั้น ภายใต้พื้นฐานของความร่วมมือที่มีอยู่เดิมได้อย่างแน่นอน