คณะทำงานเฉพาะกิจฯ บริจาคเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาดให้ รพ. ศิริราช
TECO วันที่ 8 พ.ค. 63
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 พ.ค. เจ้าหน้าที่ "คณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับนักธุรกิจไต้หวันในไทย เพื่อรับมือกับโรคโควิด – 19” (ชื่อย่อ คณะทำงานเฉพาะกิจฯ) ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นสถานพยาบาลภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมอบเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาดที่ประสงค์จะบริจาค โดยมีตัวแทนมูลนิธิ Oversea Compatriot Culture and Education Foundation และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการส่งมอบสิ่งของบริจาคในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 1,000 ชุด หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 6,000 ชิ้น และหน้ากากใสป้องกันใบหน้าอีก 200 ชิ้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันโรคระบาดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย โดยมีศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง เป็นผู้แทนรับมอบสิ่งของบริจาค และมีนายสือปั๋วซื่อ รองผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน
นพ.ประสิทธิ์ฯ กล่าวขอบคุณสำหรับน้ำใจของนักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ซึ่งเวชภัณฑ์ที่จำเป็นเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยในการยกระดับประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาด ตลอดจนเสริมสร้างความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีให้กับเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่แนวหน้า เนื่องจากตลอดช่วงที่ผ่านมานี้ สถานพยาบาลทั่วทุกแห่งในไทยล้วนมีความต้องการเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดอย่างเร่งด่วน จึงขอขอบคุณสำหรับการบริจาคและความห่วงใยที่นักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเล มีต่อสังคมไทยด้วยใจจริง โดย นพ.ประสิทธิ์ฯ ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลศิริราชได้มีการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) และมหาวิทยาลัยเฉิงกง (NCKU) คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะมีโอกาสได้ร่วมมือกับสถานพยาบาลและศูนย์การแพทย์ของไต้หวัน ในด้านการป้องกันโรคระบาดและด้านอื่นๆ ต่อไป
นายสือฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand ,TECO) และบรรดานักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ต่างก็เฝ้าจับตาสถานการณ์การระบาดล่าสุดในไทยอย่างใกล้ชิด และต้องการมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์ในแนวหน้า เพื่อยกระดับศักยภาพการป้องกันโรคระบาดให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นายสือฯ ชี้ว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ได้รับการยอมรับและเสียงชื่นชมอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก ไต้หวันจะยังคงยึดมั่นในปณิธานที่ว่า “ไต้หวันช่วยได้” (Taiwan Can Help) ต่อไป โดยจะแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน พร้อมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ไทยอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ เพื่อเผยแพร่ประสบการ์ณการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ให้ได้รับทราบกันในวงกว้างมากขึ้น ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทาง TECO ได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน เป็นภาษาอังกฤษ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รวมทั้งหมด 5 รอบ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภารกิจการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน เข้าร่วมแบ่งปันการควบคุมโรคระบาดในแง่มุมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นถึงพลังสามัคคีแห่งการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวันในการสกัดกั้นโรคระบาดครั้งนี้ ซึ่งในขณะนี้ ไต้หวันมีผลสัมฤทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจคัดกรอง ยารักษาโรค และวัคซีนป้องกันโรค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะขยายการแลกเปลี่ยนกับแวดวงต่างๆ ในเชิงกว้างต่อไป
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรง เพื่อรับมือกับสถานการ์ณการระบาดอย่างรวดเร็วและทันเวลา ตัวแทนนักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลในไทย จึงได้ร่วมหารือในการจัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจฯ” ขึ้น ภายใต้การชี้แนะของ TECO ซึ่งภารกิจหลักของคณะทำงานฯ กลุ่มนี้ คือการผนวกทรัพยากรระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเข้าไว้ด้วยกัน จัดเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันโรคระบาดไว้สำหรับนักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลในไทย พร้อมทั้งจัดการประชุมหารือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาด มาตรการเยียวยาของรัฐบาล ความต้องการด้านทรัพยากรทางการแพทย์ คำชี้แนะด้านการป้องกันโรคระบาดในการดำเนินธุรกิจ และโอกาสธุรกิจด้านการป้องกันโรคระบาด เป็นต้น เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากกิจกรรมบริจาคข้างต้นแล้ว ตลอดช่วงที่ผ่านมา “คณะทำงานเฉพาะกิจฯ” ยังได้จัดกิจกรรมบริจาคเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาด ให้กับชุมชนในไทยมากมาย อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ ตำบลแพรกษา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลาในภาคใต้ของไทย จังหวัดชลบุรีและเมืองพัทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความห่วงใยที่บรรดานักธุรกิจไต้หวันมีต่อชุมชนในไทย และสปิริตความร่วมมือในการสกัดกั้นโรคระบาด ระหว่างไต้หวัน – ไทย