TECO ผลักดันคู่มือการป้องกันโรคระบาดและการจับคู่ทางธุรกิจ โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องระหว่างไต้หวัน - ไทยต่อไป (ภาพจาก TECO)
TECO วันที่ 8 พ.ค. 63
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) แถลงว่า จากการที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต 2 ทาง ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตจากระบบห่วงโซ่อุปทาน และความต้องการของตลาดที่หดตัวลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยหลายหน่วยงานคาดว่า หลังจากที่โรคระบาดครั้งใหญ่นี้สงบลง อาจเป็นการเปิดช่องในการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้แนวใหม่ เช่น การทำงานที่บ้าน การประชุมผ่านระบบทางไกล ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภาพยนตร์ออนไลน์ หรือจะเป็นอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things, IoT) ที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ รวมไปถึงเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งต่างก็เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปในอนาคตทั้งสิ้น
เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์หลังสิ้นสุดโควิด – 19 เทคโนโลยีที่ปราศจากการสัมผัสใกล้ชิดและการประยุกต์ใช้แนวใหม่ ตามมาตรการป้องกันการระบาดล่วงหน้าของไต้หวัน อาจกลายเป็นอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไป และเพื่อทำความเข้าใจกับแนวโน้มตลาด TECO จึงได้ติดต่อเชิญหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษาและการวิจัยที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน ร่วมจัดการประชุมในประเด็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสกัดกั้นโรคโควิด – 19 กับบุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของไทย รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการแพทย์ และนักลงทุนไต้หวันในไทยด้วย ขณะเดียวกัน ก็ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาด ที่เกิดจากการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวัน ตลอดจนสำรวจความเป็นไปได้ในการร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทยในอนาคต
เพื่อช่วยให้แวดวงต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษาและการวิจัยของไทย ได้มีโอกาสทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการของหน่วยงานในไต้หวันที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาด รวมไปถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อมูลการติดต่อ ทาง TECO จึงได้จัดตั้ง “แพลตฟอร์มว่าด้วยการป้องกันโรคระบาดและการจับคู่ทางธุรกิจ” (Taiwan-Thailand Business Opportunities Derived From Fighting Against COVID-19) ขึ้นมาในเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” (http://XCOVID-19.Taiwan-Thailand.Net) โดยใช้ช่องทางการติดต่อผ่านทางไลน์ ด้วยรหัสไอดี “TaiwanMED” ซึ่งจะเป็นช่องทางในการประสานความเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมไต้หวัน - ไทยที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มดังกล่าว ขอเชิญชวนให้มิตรสหายชาวไทยที่สนใจติดต่อ TECO ได้ผ่านช่องทางรหัสไอดีข้างต้น เพื่อเร่งผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างไต้หวัน – ไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ TECO ยังได้รวบรวมผลสัมฤทธิ์ด้านการประชุมรูปแบบออนไลน์ ที่ทางหน่วยงานทยอยจัดขึ้นเมื่อช่วงที่ผ่านมา รวมถึงลิ้งค์ของไฟล์วิดีโอ และข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และการให้บริการด้านระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคระบาด ที่ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษาและการวิจัยของไต้หวัน ร่วมเสนอแนะให้แก่ผู้ประกอบการด้านการแพทย์และการป้องกันโรคระบาด โดยได้เรียบเรียงเป็น “คู่มือการป้องกันโรคระบาดและการจับคู่ทางธุรกิจ ระหว่างไต้หวัน – ไทย หลังสิ้นสุดโควิด – 19” (Taiwan-Thailand Manual of Business Opportunities Derived From Fighting Against COVID-19) เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนในการป้องกันโรคระบาดกับผู้ประกอบการไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ไต้หวันมีช่องทางในการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคระบาด ขยายความร่วมมือทางธุรกิจด้านการป้องกันโรคระบาดระหว่างไต้หวัน - ไทยได้อย่างยั่งยืน ท้ายนี้ TECO ขอเชิญชวนให้ผู้สนใจร่วมดาวน์โหลดคู่มือฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” (http://XCOVID-19.Taiwan-Thailand.Net)