ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันได้รับเสียงสนับสนุนให้เข้าร่วม WHO จากนานาชาติในปีนี้มากเป็นประวัติการณ์
2020-05-18

กต.ไต้หวันขอบคุณพลังเสียงสนับสนุนของนานาประเทศทั่วโลก ในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA (ภาพจาก MOFA)

กต.ไต้หวันขอบคุณพลังเสียงสนับสนุนของนานาประเทศทั่วโลก ในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA (ภาพจาก MOFA)

MOFA วันที่ 15 พ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ในปีนี้แผนผลักดันการเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) ของไต้หวัน ได้รับความสนใจมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของมวลมนุษยชาติ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างบริบทใหม่ให้กับแผนผลักดันเข้าร่วมของไต้หวันไปในตัว


 

ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาด “รูปแบบไต้หวัน” (Taiwan Model) ได้รับเสียงชื่นชมอย่างแพร่หลายจากนานาชาติ ส่งผลให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนในการเข้ามีส่วนร่วมใน WHO ของไต้หวัน โดยในปีนี้ ไต้หวันได้รับเสียงสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กต.ไต้หวันจึงขอแสดงความขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย


 

ตราบจนถึงวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา มีหน่วยงานบริหารจาก 29 ประเทศทั่วโลกให้การสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน ผ่านการส่งหนังสือเรียกร้อง การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ประกาศแถลงการณ์ การโพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียล และด้วยวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนอกจากบรรดาประเทศพันธมิตรของไต้หวันได้ยื่นเสนอแผนการสนับสนุนแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันก็ได้กล่าวสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ Mr. Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่ต่างก็ได้ออกมากล่าวสนับสนุนไต้หวันให้เข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติและสมาชิกรัฐสภาของ 43 ประเทศ / เขตพื้นที่ ต่างได้แสดงจุดยืนสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง ด้วยวิธีการอันหลากหลายด้วยเช่นกัน โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา มีบุคคลสำคัญทางการเมืองในประชาคมโลกจำนวนกว่า 600 คน ได้ทยอยส่งหนังสือเรียกร้องต่อนายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุ (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เลขาธิการใหญ่ของ WHO เพื่อเรียกร้องให้ WHO เร่งเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุมประจำปีนี้


 

กต.ไต้หวันระบุว่า ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันด้วยวิธีการต่างๆ หลายประการ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ และพลังเสียงสนับสนุนอันหนักแน่นที่สหรัฐฯ ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับไต้หวันในเวทีนานาชาติ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2019 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้ “กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อพันธมิตรไต้หวันปี 2019 (Taiwan Allies International Protection and Enhancement Initiative (TAIPEI) Act of 2019”) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของสหรัฐฯ นอกจากนี้ Mr. Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และ Mr. Alex Azar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ก็ได้แสดงจุดยืนอย่างเปิดเผย ด้วยการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ตลอดจนเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลก ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมด้วยเช่นกัน


 

แผนผลักดันเข้าร่วมของไต้หวันในปีนี้ นอกจากได้รับการสนับสนุนจากแวดวงทางการเมืองของนานาประเทศทั่วโลกแล้ว ยังได้รับการรายงาน การวิพากษ์วิจารณ์ การตีพิมพ์บทความพิเศษ และได้รับยื่นเรื่อง รวมกว่า 1,800 บทความ จากสื่อมวลชนของ 60 ประเทศทั่วโลก เพื่อแสดงการสนับสนุนไต้หวัน


 

กต.ไต้หวัน ชี้ว่า พลังเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามในปีนี้ เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ประชาคมโลกต่างให้การยอมรับและสนับสนุนความจำเป็นในการเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน แต่น่าเสียดายที่จีนยังคงใช้อิทธิพลในทางที่ผิดอย่างต่อเนื่องในเวทีนานาชาติ และสร้างแรงกดดันที่ไม่พึงประสงค์ต่อทุกฝ่าย ประกอบกับสำนักเลขาธิการของ WHO ไม่สามารถยึดมั่นในจุดยืนของความเป็นมืออาชีพและทางสายกลาง จึงทำให้แผนผลักดันเข้าการร่วมของไต้หวันในปีนี้ ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กต. ไต้หวันเรียกร้องให้ WHO รับฟังเสียงเรียกร้องอันหนักแน่นจากประชาคมโลก ยึดมั่นในจุดยืนของความเป็นมืออาชีพและทางสายกลาง ปฏิเสธการแทรกแซงทางการเมือง ส่งเสริมให้ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม กิจกรรม และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างให้เครือข่ายการป้องกันโรคระบาดทั่วโลกปราศจากช่องโหว่ ตลอดจนบรรลุเป้าหมาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health for All) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ตราไว้ในกฎบัตรของ WHO ในเร็ววัน