ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
คณะกรรมการประสานสถานการณ์ไวรัสโควิด – 19 ไทย – ไต้หวันบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับองค์การนอกภาครัฐของไทย ช่วยเหลือสกัดกั้นโรคระบาดในพื้นที่แถบชายแดนไทย - เมียนมา
2020-05-28
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 22 พ.ค. คณะกรรมการประสานสถานการณ์ไวรัสโควิด - 19 ไทย – ไต้หวัน ได้บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 2 องค์การนอกภาครัฐของไทย (ภาพจาก TECO)
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. คณะกรรมการประสานสถานการณ์ไวรัสโควิด - 19 ไทย – ไต้หวัน ได้บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับ 2 องค์การนอกภาครัฐของไทย (ภาพจาก TECO)

TECO วันที่ 26 พ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) แถลงว่า เนื่องจากไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในครั้งนี้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในการป้องกันโรคระบาด โดยศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล (Shoklo Malaria Research Unit, SMRU) ที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และมูลนิธิ The Borderland Health Foundation (BHF) ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก็ประสบกับปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์เช่นกัน จึงได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือไปยัง “คณะกรรมการประสานสถานการณ์ไวรัสโควิด - 19 ไทย – ไต้หวัน” หลังจากที่ได้รับเรื่อง ทางคณะกรรมการฯ ก็ได้เร่งจัดซื้อและจัดส่งทางไปรษณีย์แบบเร่งด่วนไปยังพื้นที่อำเภอแม่สอด ซึ่งเวชภัณฑ์ที่ทางคณะกรรมการฯ ประสงค์จะบริจาคในครั้งนี้ ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และถุงคลุมรองเท้า เป็นต้น


 

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้บริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนให้กับหน่วยงานแพทย์ในพื้นที่เป็นพิเศษ อีกทั้งยังได้เปิดรับบริจาคสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร เพื่อนำไปมอบให้กับครอบครัวแรงงานที่ด้อยโอกาส และสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าในพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประชาชนในแถบชายแดน สามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปได้อย่างราบรื่น โดยเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสิ่งของอุปโภคบริโภคทั้งหมด ได้ส่งถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา


 

SMRU เป็นองค์กรทางการแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นบริเวณชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งตราบจนปัจจุบันเปิดดำเนินการมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว โดย SMRU เป็นหนึ่งในศูนย์วิจัย ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแห่งอังกฤษ และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งภารกิจหลักขององค์กรฯ นอกจากจะดำเนินการวิจัยทางการแพทย์แล้ว ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทางการแพทย์ของไทย อีกทั้งยังได้ให้บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในบริเวณชายแดนไทย – เมียนมาอีกด้วย ส่วนมูลนิธิ BHF เป็นมูลนิธิของไทยที่ประสานความร่วมมือในพื้นที่กับ SMRU อย่างใกล้ชิด


 

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดในไทยจะทุเลาลงอย่างต่อเนื่อง หากแต่พื้นที่บริเวณชายแดนไทย – เมียนมา ก็ยังคงประสบกับปัญหาการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ แม้ว่าสำนักงานเทศบาลเมืองตากจะประกาศปิดด่านชายแดนไปเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่ก็ยังมีแรงงานชาวเมียนมาบางส่วนตกค้างอยู่ในเขตแดนไทย และต้องดิ้นรนต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างโดดเดี่ยว ประกอบกับสถานพยาบาลภาครัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของไทย ได้ประกาศชัดว่า จะให้บริการแก่ประชาชนชาวไทยเป็นอันดับแรก ลำดับถัดมา จึงจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย


 

แรงงานชาวเมียนมาที่ขาดรายได้ประทังชีวิต และประสบกับปัญหาการถูกกีดกันทางการแพทย์ ประกอบกับอุปสรรคด้านภาษาและการได้รับข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้การใช้ชีวิตในไทยของพวกเขา นับวันยิ่งลำบากมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้กลายเป็นช่องโหว่ในเครือข่ายการสกัดกั้นโรคระบาด หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความโกลาหลของกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่ต้องการเข้ารับบริการทางการแพทย์หลังเปิดด่าน ซึ่งอาจเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับระบบบริการทางการแพทย์ของไทยในภายหลัง ทาง SMRU และ BHF จึงได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสถานพยาบาลภาครัฐของไทย เพื่อร่วมปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของแรงงานข้ามชาติ ตามแถบชายแดน ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น


 

ภายใต้สภาวการณ์อันคับขันเช่นนี้ ไต้หวันได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือในการสกัดกั้นโรคระบาดแก่ประชาคมโลก บรรลุเป้าหมายตามปณิธานที่ว่า “ไต้หวันช่วยได้ และไต้หวันกำลังช่วย” (Taiwan can help, and Taiwan is helping) ในขณะที่ไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคโควิด - 19 “คณะกรรมการประสานสถานการณ์ไวรัสโควิด - 19 ไทย – ไต้หวัน” ถือเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการร่วมสกัดกั้นโรคระบาดระหว่างไต้หวันกับไทย และในครั้งนี้ก็ยังสามารถรวบรวมเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่พื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งมอบความห่วงใยให้กับบรรดาประชาชนและองค์กรในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ร่วมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับภารกิจสกัดกั้นโรคระบาดในพื้นที่แถบชายแดน