ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ก.ศึกษาธิการประกาศผลการอนุมัติโครงการคัดเลือกนักศึกษาไปศึกษาต่อหรือฝึกงานยังต่างประเทศ มีนักศึกษาจำนวน 1,583 คนเดินทางไปสานฝันต่อที่ประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่
2020-05-29
New Southbound Policy。โครงการบ่มเพาะบุคลากรมุ่งใต้ใหม่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทเป (Taipei Tech) ส่งนักศึกษาไปฝึกงานภาคฤดูร้อนในบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Delta Electronics (Thailand) Public Co.,Ltd) (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน)
โครงการบ่มเพาะบุคลากรมุ่งใต้ใหม่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทเป (Taipei Tech) ส่งนักศึกษาไปฝึกงานภาคฤดูร้อนในบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Delta Electronics (Thailand) Public Co.,Ltd) (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน)

กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 28 พ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาชาติให้กับบรรดาเยาวชนไต้หวัน ทางกระทรวงฯ ได้เร่งส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาของไต้หวันผลักดันโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ ผ่านการคัดเลือกนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่นไปศึกษาต่อยังสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ หรือไปฝึกงานยังสถานประกอบการหรือหน่วยงานในต่างประเทศ โดยนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันโครงการฝึกอบรมหรือฝึกงานยังต่างประเทศ ซึ่งตราบจนปัจจุบัน มีนักศึกษาที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าว รวม 37,904 คน ส่วนนักศึกษาทุนที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศและกลับมาไต้หวันแล้ว ต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้รับประโยชน์มากมายจากโครงการนี้ ส่งผลให้โครงการนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากทุกภาคส่วนอย่างล้นหลาม


 

เพื่อขานรับ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ของรัฐบาลไต้หวัน กระทรวงศึกษาธิการได้มุ่งมั่นบ่มเพาะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถสร้างประโยชน์ในอนาคต ให้กับประเทศตามเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ และในปี 2017 กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มจัดตั้ง “โครงการบ่มเพาะบุคลากรมุ่งใต้ใหม่” โดยคัดเลือกนักศึกษาเดินทางไปฝึกงานยังประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ซึ่งคาดหวังว่า นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างทักษะภาษาของพื้นที่นั้นๆ ให้กับเยาวชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาจนกลายเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเปี่ยมด้วยประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ภายใต้พื้นฐานความเข้าใจที่มีต่อการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อีกทั้งยังคาดหวังที่จะบ่มเพาะบุคลากรชั้นยอดให้กับผู้ประกอบการชาวไต้หวันในต่างแดน ตลอดจนยกระดับความสมัครใจของบัณฑิตในการเดินทางไปทำงานต่อยังประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่หลังสำเร็จการศึกษา โดยในปีนี้มีรายชื่ิอสถาบันอุดมศึกษาที่ยื่นสมัครเข้าร่วมการคัดเลือก ทั้งหมด 91 แห่ง มีเอกสารที่ยื่นสมัครเข้ามา รวม 361 ชุด โดยทางกระทรวงฯ ได้อนุมัติให้ 321 กลุ่มจาก 88 สถาบัน มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จึงทำให้นักศึกษาที่จะได้มีโอกาสไปฝึกงานยังประเทศเป้าหมายนโยบายใหม่ในปีนี้ มีจำนวน 1,583 คน โดยในจำนวนนี้ มี 52 กลุ่มที่จะเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศไทย


 

ทั้งนี้ นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้จะถูกส่งไปฝึกงานในสาขาเฉพาะทาง ยังประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ตามกำหนดการต่อไป ซึ่งสาขาเฉพาะทางในปีนี้ ครอบคลุมถึง สาขามนุษยศาสตร์และสังคม การบริหารจัดการการอาหารและการโรงแรม วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ เป็นต้น โดยนักศึกษาทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม เพื่อเดินทางไปทำงานในหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่แตกต่างกันของนักธุรกิจชาวไต้หวันในต่างประเทศ อาทิ การให้บริการด้านการศึกษา การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อน การดูแลสุขภาพทางการแพทย์ การผลิตเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม การให้บริการสวัสดิการทางสังคม การแปรรูปอาหาร การขนส่ง เป็นต้น โดยประเทศเป้าหมายดังที่ระบุไว้ในข้างต้น ประกอบด้วย เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา อินเดีย บรูไน ศรีลังกา นิวซีแลนด์ และออสเตรีย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประยุกต์ใช้ในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เกิดประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป