กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน วันที่ 29 พ.ค. 63
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมากระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในไต้หวันทุเลาลงอย่างต่อเนื่อง ทางการจึงได้ปรับมาตรการเรียกเก็บหน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยผู้ประกอบการในประเทศ มาให้รัฐเป็นผู้จัดจำหน่าย โดยคงไว้เพียงส่วนหนึ่งสำหรับให้บริการแก่ประชาชนในการซื้อหน้ากากอนามัยแบบยืนยันตัวตน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกหน้ากากอนามัยในส่วนที่ไม่ได้เรียกเก็บโดยภาครัฐ ไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อย่างอิสระ ซึ่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางกระทรวงเศรษฐการไต้หวันได้ประกาศว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. นี้ เป็นต้นไป ไต้หวันจะยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย รวมถึงมาตรการที่จำกัดให้ประชาชนชาวไต้หวันจัดส่งหน้ากากอนามัยได้เพียงคนละ 30 ชิ้นทุก 2 เดือน ไปให้ญาติที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ
นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป ประชาชนชาวไต้หวันสามารถจัดส่งหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศได้อย่างไม่จำกัดจำนวน โดยไม่จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตส่งออกจากกรมการค้าระหว่างประเทศ และสามารถส่งออกได้ในจำนวนที่ไม่จำกัด อีกทั้งไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ส่งออก และ ไม่จำกัดผู้รับพัสดุปลายทางว่าจะต้องเป็นคนในครอบครัวหรือคนในสัญชาติเดียวกันกับผู้จัดส่ง โดยสามารถทำการจัดส่งผ่านทางไปรษณีย์ไต้หวัน หรือบริษัทขนส่งพัสดุได้ตามความสะดวก
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) ยังได้แถลงว่า เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิการเข้ารับการรักษาของประชาชนในประเทศ และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต สำนักงานควบคุมอาหารและยาไต้หวัน (Food and Drug Administration, FDA) จึงได้ติดต่อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางคลินิก ร่วมจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมอภิปรายในประเด็นการขึ้นทะเบียนตำรับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด - 19
โดย CECC ระบุว่า เนื่องจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางการรักษาของยาเรมเดซิเวียร์ ได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลหลักฐานเบื้องต้น อีกทั้งโลกนานาชาติต่างได้ทยอยอนุมัติการใช้ยาตัวนี้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 ประกอบกับการพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศ อาทิ ความต้องการบริการด้านสาธารณสุข ผลสัมฤทธิ์ทางการรักษา และการประเมินความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้จึงได้ชี้แนะว่า FDA สามารถอนุมัติการใช้ยาตัวนี้สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 ที่มีภาวะการติดเชื้อรุนแรง (SARS-CoV-2) ภายใต้พื้นฐานกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ยาตัวนี้เข้าสู่ระบบการรักษาทางการแพทย์แล้ว ผู้ประกอบการผลิตยาก็ยังคงจำเป็นต้องดำเนินการประเมินความเสี่ยงด้านการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยในการใช้ยาให้กับผู้ป่วยต่อไป