MOFA วันที่ 1 มิ.ย. 63
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 มิ.ย. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานแถลงข่าวร่วมกับ W. Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/T) และ Mr. Hiroyasu Izumi ตัวแทนสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) พร้อมนี้ยังได้เผยแพร่ “แถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของกรอบความร่วมมือ GCTF” หลังเสร็จสิ้นการประชุม แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจแน่วแน่ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระดับพหุภาคี ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
รมว.อู๋ฯ กล่าวในงานแถลงข่าวว่า ในวันที่ 1 มิ.ย.ของเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไต้หวันและสหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการจัดตั้งกรอบความร่วมมือ GCTF โดยคาดหวังว่า จะประยุุกต์ใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นสื่อกลางในการสำแดงข้อได้เปรียบและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของไต้หวัน เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศในภูมิภาค และเสริมสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคี ตลอดจนขยายพื้นที่ในเวทีนานาชาติของไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในฐานะ “พันธมิตรอย่างเป็นทางการ” (full partner) เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ส่วนสวีเดนและออสเตรียก็แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมด้วยเช่นกัน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตประชาคมโลกจะทยอยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแพลตฟอร์มความร่วมมือภายใต้กรอบ GCTF นี้
เพื่อเสริมสร้างกลไกความร่วมมือภายใต้กรอบ GCTF ให้มีความเป็นระบบมากขึ้น รมว.อู๋ฯ ได้ประกาศในงานแถลงข่าวว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา กต.ไต้หวันได้จัดตั้ง “คณะอนุกรรมการว่าด้วยการพัฒนากรอบความร่วมมือ GCTF” ขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอเมริกาเหนือ เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการของ GCTF โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานและจัดกิจกรรมภายใต้กรอบ GCTF ขึ้นเป็นวาระประจำ พร้อมทั้งจัดตั้งเครือข่ายศิษย์เก่า GCTF (GCTF Alumni Network) พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้เผยแพร่ตราสัญญลักษณ์ประจำ GCTF ในงานแถลงข่าวครั้งนี้อีกด้วย
W. Brent Christensen ผอญ. สถาบันอเมริกาในไต้หวัน และ Mr. Hiroyasu Izumi ตัวแทนสมาคมฯ ต่างกล่าวชื่นชมว่า GCTF เป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพื่อเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญในประชาคมโลก ซึ่งทุกภาคส่วนสามารถเรียนรู้และอ้างอิงความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน นอกจากนี้ W. Brent Christensen ยังได้กล่าวชื่นชมว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนเป็นพลังแห่งความดีของโลกใบนี้ พร้อมทั้งเปรียบเปรยความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ว่าเป็น “มิตรแท้ที่มีพัฒนาการที่รุดหน้า” สะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองประเทศต่างยึดมั่นในจุดยืนดังกล่าว เพื่อร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง
Mr. Hiroyasu Izumi กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้กรอบ GCTF อย่างกระตือรือร้น พร้อมเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นจะไม่ทอดทิ้งไต้หวัน และไม่สามารถขาดพันธมิตรอย่างไต้หวันได้ ญี่ปุ่นและไต้หวันต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน
กรอบความร่วมมือ GCTF ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2015 ตราบจนปัจจุบัน ได้จัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติมากว่า 23 รอบ ภายใต้ประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ อาทิ ด้านสาธารณสุข ความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย การเสริมสร้างพลังสตรี เศรษฐกิจดิจิทัล ความปลอดภัยของระบบข้อมูลสารสนเทศ รวมไปถึงการรู้เท่าทันสื่อ โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญกว่า 500 คน จาก 38 ประเทศทั่วโลก เดินทางมาเข้ารับการฝึกอบรม ผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งในอนาคต กต.ไต้หวันจะเร่งกระชับความร่วมมือในกิจการของประชาคมโลกในเชิงลึก ร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF และภายใต้ความร่วมมือที่มีอยู่เดิมระหว่างกัน