OCAC วันที่ 2 มิ.ย. 63
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ดร.ถงเจิ้นหยวน ประธานคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (Overseas Community Affairs Council, OCAC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) คนใหม่ ได้เดินทางกลับมาจากประเทศไทย โดยในวันที่ 2 มิ.ย. นายจางจิ่งเซิน รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอ่านคำสั่งของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี ที่ได้แต่งตั้ง ดร.ถงเจิ้นหยวน ให้ดำรงตำแหน่งประธาน OCAC ซึ่งดร.ถงฯ ได้เข้าร่วมการประชุมพร้อมรับมอบตราประทับประจำตำแหน่งใหม่นี้ ผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนางสวีเจียชิง รองประธาน OCAC และเจ้าหน้าที่ทุกระดับของ OCAC เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
รมว.จางฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า สืบเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หลังจากที่ ดร.ถงฯ เดินทางกลับเข้าสู่ไต้หวันแล้ว ต้องทำการกักตัวสังเกตอาการที่บ้านเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้จึงจำเป็นต้องจัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รมว.จางฯ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการชาวจีนโพ้นทะเล เชื่อว่าทุกคนคงจะเข้าใจถึงสถานการณ์การระบาดล่าสุดในทั่วโลกอย่างลึกซึ้ง และขอแสดงความขอบคุณสำหรับความพยายามร่วมกันของภาคประชาชนและการนำของภาครัฐฯ ที่ร่วมกันสกัดกั้นโรคระบาดไว้ได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งชี้แจงว่า ดร.ถงฯ เป็นผู้รอบรู้ในทุกด้าน ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยนั้น ได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ทำให้ รมว.จางฯ ทึ่งในความสามารถอย่างนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ มุ่งมั่นในการจัดการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไต้หวัน ส่งผลให้มิตรสหายชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวันเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาโรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลในพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจชาวไต้หวันในไทยและผู้ประกอบการในทุกแวดวงอุตสาหกรรมในไต้หวัน ตลอดจนประสบความสำเร็จในการขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – ไทย ด้วยเหตุนี้ รมว.จางฯ จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายใต้การนำของดร.ถงฯ OCAC จะสามารถบรรลุไปสู่ปณิธานที่ว่า รัฐบาลบ่มเพาะบุคลากรไต้หวัน ขยายรากฐานสู่ทั่วโลก อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ดร.ถงฯ ได้กล่าวขอบคุณสำหรับกำลังใจและความมุ่งหวังที่รมว.จางฯ ส่งมอบให้ พร้อมกล่าวว่าตนจะปฏบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากปธน.ไช่ฯ และนรม.ซูฯ อย่างเต็มกำลัง พร้อมแสดงความขอบคุณต่อนายอู๋ซินซิง อดีตประธาน OCAC ด้วยใจจริง ที่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ท่านได้สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างด้านกิจการชาวจีนโพ้นทะเลของไต้หวัน ประกอบด้วย การปฏิรูประบบแบบแผนต่างๆ ดำเนินการยกระดับประสิทธิภาพในการประสานงาน เพื่อให้บริการแก่บรรดานักธุรกิจไต้หวันทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ได้มุ่งแสวงหาทรัพยากรต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้ประกอบการไต้หวันในต่างแดนโดยถ้วนหน้า
ดร.ถงฯ ชี้แจงว่า บรรดานักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ ถือเป็นทรัพยากรที่ดีที่สุดของไต้หวันในสังคมโลก และยังเป็นกิ่งก้านสาขาของพลังแห่งความดีของไต้หวันที่แผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลกด้วย นอกจากนี้ ดร.ถงฯ ยังได้กล่าวขอบคุณบรรดานักธุรกิจชาวไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลที่ให้การสนับสนุนไต้หวันมาเป็นระยะเวลานาน พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ OCAC ในทุกระดับชั้น โดยในอนาคต ดร.ถงฯ จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ OCAC เร่งผลักดันภารกิจตามเป้าหมาย 4 ประการ ประกอบด้วย ประการแรก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ขยายการให้บริการที่ครอบคลุมแก่ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ประการที่ 2 ประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงกิจการทุกภาคส่วนระหว่างผู้ประกอบการในไต้หวันและผู้ประกอบการชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ประการที่ 3 ให้ความช่วยเหลือแก่บรรดานักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลในการตั้งฐานธุรกิจในต่างแดนอย่างมั่นคง และประการสุดท้าย รวบรวมกำลังจากชาวจีนโพ้นทะเลทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างให้ไต้หวันแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
โดยดร.ถงฯ ได้ระบุว่า ตนจะใช้ประสบการณ์จากการทำงานในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันในไทย มาเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งจะเร่งประชาสัมพันธ์การให้บริการแก่ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกโดยเร็ว โดยขอบเขตการให้บริการ ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้า การศึกษา เทคโนโลยี การแพทย์ วัฒนธรรม และการเกษตร เป็นต้น
นอกจากนี้ ดร.ถงฯ ยังได้ให้การชี้แนะว่า OCAC จำเป็นต้องเร่งประเมินและวางแผนจัดตั้งแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทางดิจิทัลสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก รวมถึงประชาสัมพันธ์การให้บริการทางการแพทย์นานาชาติของไต้หวัน แก่ชาวจีนโพ้นทะเลในต่างแดน ตลอดจนผลักดันบัตรชาวจีนโพ้นทะเล 2.0 ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวจีนโพ้นทะเลในนานาประเทศทั่วโลก ร่วมผลักดันการศึกษารูปแบบดิจิทัลและการให้บริการทางการแพทย์นานาชาติ ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพของไต้หวัน ไปสู่ประชาคมโลก อีกทั้งยังเป็นการขยายขอบเขตการให้ความดูแล และยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการชาวจีนโพ้นทะเล ผ่านบัตรชาวจีนโพ้นทะเลดิจิทัล ท้ายนี้ ดร.ถงฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในระหว่างการผลักดันนโยบายต่างๆ OCAC ควรที่จะสำแดงข้อได้เปรียบของไต้หวันเพื่อช่วยเหลือพัฒนากิจการของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็ต้องประยุกต์ใช้เครือข่ายอุตสาหกรรมของชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ เข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมทุกภาคส่วนของไต้หวัน ในการผลักดันและขยายไปสู่ตลาดโลก ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของไต้หวันไปในตัวด้วย