กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 2 มิ.ย. 63
เมื่อช่วงที่ผ่านมานี้ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดสรรงบประมาณแก่ มหาวิทยาลัยจงซิง (National Chung Hsing University, NCHU) ในการจัดกิจกรรม “สัปดาห์เอเชียทางใต้” ขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ค. - 2 มิ.ย. โดยกำหนดให้อินเดียและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายหลักในกิจกรรมครั้งนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านการจัดนิทรรศการ สโมสรหนังสือ และนิทรรศการภาพถ่าย แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรทดลองเรียน อาทิ “อินเดียแสนอัศจรรย์” “ประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้บริบทวัฒนธรรมอันหลากหลาย” และ “สำรวจเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียของเรา” พร้อมจัดการบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง รวม 4 รอบ โดยได้เชิญผู้ที่สนใจและติดตามสถานการณ์ในประเทศภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานาน ช่างภาพที่บันทึกภาพแห่งวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ นักเขียนบทความสถานที่ท่องเที่ยว ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 และนักเขียนเพื่อผู้ใช้แรงงาน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมหารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอันหลากหลายของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ให้กับนักเรียนนักศึกษาไต้หวัน
การบรรยายทั้ง 4 รอบที่ NCHU จัดขึ้นนั้น ได้เชิญนายหลินลี่ชิง นักเขียนเพื่อผู้ใช้แรงงานร่วมเข้าร่วมแบ่งปันเรื่องราวของแรงงานต่างชาติชาวอาเซียน ทำงานในไซต์งานก่อสร้างและเรือประมงของไต้หวัน มิตรสหายผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวันเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมและไม่มีใครรับฟังเสียงเรียกร้องในใจของพวกเขาอย่างแท้จริง หากแต่ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์แบบพันธมิตรทั่วโลกเช่นนี้ ก็เป็นอีกประเด็นที่พวกเราควรให้ความสำคัญ นอกจากนี้ นายอู๋เจี้ยนเหิง ช่างภาพที่ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ผ่านภาพถ่าย ได้แบ่งปันว่า ในประเทศเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย มีประเพณีทางศาสนา ภาษา และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน จากเรื่องราวการบอกเล่าของนายอู๋ฯ ทำให้สามารถเห็นถึงรูปแบบทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
กรมการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แถลงว่า หลักสูตรทดลองเรียนข้างต้นนี้ทำลายกรอบจำกัดทางการศึกษาในรูปแบบเดิม จากการออกแบบหลักสูตรทางวัฒนธรรมที่เปี่ยมด้วยสีสัน ประกอบกับกิจกรรมสัมผัสประสบการณ์ในรูปแบบหลากหลายเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมอันหลากหลายและค่านิยมที่แตกต่างของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้แล้ว บริบททางวัฒนธรรมเหล่านี้ ยังทำให้ได้เรียนรู้ถึงแนวโน้มการพัฒนาและกิจการระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การพุ่งความสนใจไปที่ประเด็นสำคัญๆ ในนานาชาติ ตลอดจนทำความเข้าใจกับอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มีต่อตัวเรา ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้นัยยะทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง และเปิดวิสัยทัศน์สู่นานาชาติได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ