ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
อดีตรองปธน.เฉินฯ ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชาพิจารณ์ของรัฐสภาสหราชอาณาจักร ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน
2020-06-05
New Southbound Policy。อดีตรองปธน.เฉินฯ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การติดตามสถานการณ์การระบาดล่าสุด (track and trace) ของไต้หวัน แก่คณะกรรมการด้านสุขภาพและสวัสดิการทางสังคม แห่งสภาสามัญชนภายใต้ความดูแลของรัฐสภาสหราชอาณาจักร โดยบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก (ภาพจาก MOFA)
อดีตรองปธน.เฉินฯ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การติดตามสถานการณ์การระบาดล่าสุด (track and trace) ของไต้หวัน แก่คณะกรรมการด้านสุขภาพและสวัสดิการทางสังคม แห่งสภาสามัญชนภายใต้ความดูแลของรัฐสภาสหราชอาณาจักร โดยบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก (ภาพจาก MOFA)

MOFA วันที่ 4 มิ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า นายเฉินเจี้ยนเหริน อดีตรองประธานาธิบดีไต้หวันได้ตอบรับคำเชิญของ Mr. Jeremy Hunt ประธานคณะกรรมการด้านสุขภาพและสวัสดิการทางสังคม (Chair of the Health and Social Care Select Committee) แห่งสภาสามัญชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภาสหราชอาณาจักร ในการเข้าร่วมการประชุมประชาพิจารณ์ของคณะกรรมการฯ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อเวลา 21:30 ตามเวลากรุงไทเปของวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยอดีตรองปธน.เฉินฯ ได้ชี้แจงผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ของไต้หวัน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การติดตามสถานการณ์การระบาดล่าสุด (track and trace) ของไต้หวัน ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ โดยนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายโจวจื้อห้าว อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายจวงเหรินเสียง รองอธิบดี ต่างก็เข้ามีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ด้วยเช่นกัน


 

การประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ มี Mr. Jeremy Hunt ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกรัฐสภาของคณะกรรมการด้านสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมของอังกฤษ ทั้งหมด 11 คน เข้าร่วมด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมอภิปรายถึงบทบาทและแผนแม่บทของการประยุกต์ใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และการติดตามสถานการณ์การระบาดล่าสุด ภายใต้แนวทางปฏิบัติเพื่อการสกัดกั้นโรคระบาดของอังกฤษ อีกทั้งการประชุมในครั้งนี้ ยังมี Mr. Christophe Fraser ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ผู้วิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชันการป้องกันโรคระบาดให้กับรัฐบาลอังกฤษ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า มาเข้าร่วมการประชุมด้วย


 

ก่อนหน้านี้ Mr. Jeremy Hunt ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว โดยได้ให้การยอมรับผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันอย่างเปิดเผย ซึ่งในที่ประชุมประชาพิจารณ์ครั้งนี้ Mr. Jeremy ก็ได้ยกย่องและชื่นชมผลสัมฤทธิ์ด้านการตรวจสอบและควบคุมโรคระบาดของไต้หวัน พร้อมเห็นว่ารัฐบาลอังกฤษสมควรยึดเป็นต้นแบบ นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาอย่าง Mr. James Davies, Mr. Paul Bristow, Ms. Amy Callaghan และ Ms.  Rosie Cooper ต่างก็ได้ให้การยอมรับต่อผลสัมฤทธิ์อันเป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวไต้หวัน พร้อมสอบถามความคิดเห็นของอดีตรองปธน.เฉินฯ ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ “มีมาตรการใดบ้างที่สมควรเป็นต้นแบบให้แก่ประชาคมโลก” “ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการต่อกรกับโรคระบาดในครั้งนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ” “ทำอย่างไรให้ภาคประชาชนให้ความร่วมมือกับนโยบายการป้องกันโรคระบาดของภาครัฐ” “ความสำคัญของการศึกษาด้านการป้องกันโรคระบาด” และ “การที่ถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบสาธารณสุขโลกอย่าง WHO ได้ส่งผลกระทบต่อภารกิจการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันหรือไม่” เป็นต้น


 

อดีตรองปธน.เฉินฯ กล่าวในที่ประชาพิจารณ์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการต่อกรกับโรคระบาด ประกอบด้วย 3 ประการหลัก ดังนี้ “แก้ปัญหาอย่างรอบคอบ” “รับมืออย่างฉับไว” และ “กำหนดมาตรการป้องกันโรคระบาดล่วงหน้า” พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดปลีกย่อยในเชิงลึก และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อรัฐบาล นอกจากนี้ อดีตรองปธน. เฉินฯ ยังได้กล่าวย้ำว่า มีเพียงทั่วโลกประสานความร่วมมือระหว่างกันเท่านั้น จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการสกัดกั้นโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ WHO จึงส่งผลให้ไต้หวันไม่ได้รับข้อมูลการป้องกันโรคระบาดที่ครอบคลุม และไม่สามารถทำความเข้าใจกับกลยุทธ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของประเทศอื่นๆ ได้ การที่ไต้หวันได้เข้ามีส่วนร่วมใน WHO จะสามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ไต้หวัน WHO และประชาคมโลกได้


 

กต.ไต้หวันแถลงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่อดีตรองปธน.เฉินฯ ตอบรับเข้าร่วมการประชาพิจารณ์ของรัฐสภาอังกฤษ หลังจากที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจากการเข้าร่วมในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาคมโลก การได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ความชำนาญ ก็นับว่าไต้หวันได้ร่วมสร้างคุณประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาคมโลกแล้ว


 

คลิปการประชาพิจารณ์ ฉบับสมบูรณ์ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ด้านล่างนี้

https://parliamentlive.tv/Event/Index/7c6a6a33-f653-4eff-8157-ab6bba7e63cb?fbclid=IwAR09u4IkIkRi9oQCy3ISo39Je4H1P_Ddp621fd506pjXLO3loa2_Vfrirdk