ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
20 ปีแห่งความพากเพียร แปลงโฉมมะระขี้นก
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-06-15

มะระ มีรสขม ฤทธิ์เย็น ไร้พิษ ขับร้อน แก้อาการเหนื่อยล้า โรคหัวใจ และบำรุงสายตา
 
คัมภีร์เปิ๋นเฉ่ากังมู่ (本草綱目) ซึ่งเป็นตำรายาสมุนไพรจีนในยุคราชวงค์หมิง บันทึกไว้ว่า “มะระ มีรสขม ฤทธิ์เย็น ไร้พิษ ขับร้อน แก้อาการเหนื่อยล้า โรคหัวใจ และบำรุงสายตา” สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียน (Hualien District Agricultural Research and Extension Station หรือ HDARES) ทุ่มเทความพยายามในการทดลองภาคสนามมานานถึง 20 ปี จึงสามารถเพาะพันธุ์มะระขี้นกสายพันธุ์ใหม่ออกมา ภายใต้ชื่อ “ฮัวเหลียนหมายเลข 1 ถึง หมายเลข 7” โดยหวังจะให้มะระขี้นก ไม่ได้เป็นเพียงแค่พืชผักที่ถูกนำมาใช้ในการปรุงเป็นอาหารจานรองเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเอาสารสกัดบริสุทธิ์จากมะระขี้นกมาใช้ในการผลิตเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพกับฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ทำให้มะระขี้นกที่มีรสขม กลายเป็นพืชผักที่ใช้บำรุงสุขภาพได้ด้วย

 

“นี่คือเจ้าสาวในวันนี้ คุณดูสิ “เธอ” มีสีสันสดใสที่สุด ดอกเหลืองอร่ามที่สุด สามารถเลือกเธอมาผสมเกสร หลังผสมเกสรแล้ว พรุ่งนี้จะเริ่มมีผลมะระออกมา และค่อยๆ เติบโตขึ้น หลังจากนั้น 15 วัน ผลมะระก็จะโตเต็มที่”

แสงแดดเจิดจ้าในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นฤดูใบไม้ร่วงสาดส่องลงมา ส่งผลให้อุณหภูมิภายในเรือนกระจกสูงถึง 30 องศาเซลเซียส เรือนกระจกจึงกลายเป็น “เรือนร้อน” ไปโดยปริยาย

คุณฉวนจงเหอ (全中和) ผู้ช่วยนักวิจัยแผนกปรับปรุงพันธุ์พืช สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียน คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทันทีที่มาถึงสถานที่ทำงาน สิ่งแรกที่เขาทำคือ ตรงดิ่งไปที่ “สวนเพาะพันธุ์” เพื่อผสมเกสรให้แก่ “ต้นแม่พันธุ์” มะระขี้นกและเก็บเมล็ดพันธุ์

 

ต้นแม่พันธุ์มะระ สุดยอดในปฐพี

คุณฉวนจงเหอกล่าวพลางใช้มือข้างหนึ่งพยุงเครือมะระที่เขียวขจีว่า “นี่คือต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกตัวเมียในสัดส่วนสูง เป็นสมบัติล้ำค่าของไต้หวัน”

โดยทั่วไป มะระต้นหนึ่งจะออกดอกประมาณ 100 ดอก แต่จะมีดอกตัวเมียประมาณ 2-10 ดอกเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่าจะให้ผลมะระเพียงประมาณ 2-10 ลูก แต่ต้นแม่พันธุ์ที่ได้ชื่อว่า “ออกดอกตัวเมียในสัดส่วนสูง” ต้นนี้ หลังผ่านการผสมพันธุ์มาถึง  5 รุ่น สามารถออกดอกตัวเมียได้มากถึง 80-90 ดอก จากทั้งหมด 100 ดอก หากคำนวณเป็นปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่เพาะปลูก จากเดิมจะได้ผลผลิต 1 ตันต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (เท่ากับประมาณ 6 ไร่ 1 งาน) ในแต่ละฤดูกาลผลิต จะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6-10 ตันเลยทีเดียว

 

ต้นกำเนิดมะระขี้นก

คัมภีร์เปิ๋นเฉ่ากังมู่บันทึกไว้ว่า มะระยังมีชื่อเรียกว่า ลิ้นจี่ดิ้นทอง (錦荔枝) หรือองุ่นขี้เรื้อน (癩葡萄) ในยุคทศวรรษที่ 1980 ร้านอาหารซีฟู้ดและอาหารป่าที่เมืองฮัวเหลียนได้เปิดตัวเมนูมะระป่าผัดไข่เค็มและมะระยัดไส้หมูสับให้ลูกค้าได้ลองลิ้มชิมรสกัน ต่อมาในปี 1989 สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนได้เริ่มวิจัยและปรับปรุงพันธุ์มะระขี้นก ตลอดจนพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูก เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

ปีค.ศ.1996 คุณฉวนจงเหอเริ่มเพาะพันธุ์มะระ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ “มะระฮัวเหลียนหมายเลข 1, 2 และ 3” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ติดผลดก ในปีค.ศ.2005 และอีก 3 ปีติดต่อกัน จากการที่ผลมะระมีขนาดกลางและเล็ก เหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก ผลมะระที่มีขนาดเท่ากับความยาวของปากกาลูกลื่น 1 ด้าม น้ำหนักประมาณ 160 กรัม เท่ากับ 1 ใน 3 ของมะระสีขาวลูกใหญ่ จึงกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในซูเปอร์มาร์เก็ต

จากนั้น มะระพันธุ์ “ฮัวเหลียนหมายเลข 6” ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ออกมาเมื่อปีค.ศ.2016  โดยถือกำเนิดมาจากต้นแม่พันธุ์กับพ่อพันธุ์ ซึ่งต่างเป็นมะระสายพันธุ์ท้องถิ่นในฮัวเหลียน โดยคุณฉวนจงเหอได้เริ่มกระบวนการทำพันธุ์ให้บริสุทธิ์ (purification) คัดเลือกและผสมพันธุ์ ตั้งแต่ปีค.ศ.1998 เป็นต้นมา หลังใช้ความเพียรพยายามนานถึง 10 ปี จึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์มะระคุณภาพเยี่ยมที่ให้ผลผลิตสูงถึง 14 ตันต่อเฮกตาร์ ตลอดช่วงฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 1.5 เดือน

จุดเด่นของมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 6 คือ ผลมะระสามารถรับประทานสดๆ ได้ ผิวมะระมีสีเขียวสดไล่ขึ้นเป็นลำดับชั้น เปล่งประกายมันวาว มีรสกรอบและอมเปรี้ยวนิดๆ เหมือนรสชาติของแอปเปิล หากนำไปแช่เย็นจะขจัดรสขมให้หมดไป ผลมะระสดเหมาะสำหรับการนำไปทำสลัด หรือน้ำผักปั่นเพื่อสุขภาพ

  เราเดินทางมาถึงฟาร์ม Chi-Lai Green Land ซึ่งเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่เพาะปลูกมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 2 และหมายเลข 6 คุณไช่จื้อเฟิง (蔡志峰) ผู้จัดการฟาร์ม เล่าว่า “มะระพันธุ์ที่มาจากการปรับปรุงสายพันธุ์โดยสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนให้ผลผลิตสูง ในฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวสามารถเก็บเกี่ยวผลมะระได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่เพาะปลูก 2,000 ตารางเมตร จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้วันละ 1 ตัน ปัจจุบันเรามีพื้นที่เพาะปลูกที่ผ่านการรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ 30 กว่าเฮกตาร์ นอกจากจัดส่งให้ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังได้ทำการเกษตรพันธสัญญากับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้วย”

 

การแปลงโฉมของมะระขี้นก

การเพาะพันธุ์มะระของคุณฉวนจงเหอ นอกจากเพื่อการบริโภคแล้ว ยังถูกนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยในโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรชีวภาพแห่งชาติ (National Science and Technology Program for Agricultural Biotechnology) ซึ่งดำเนินการโดยสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Council, NSC) ในช่วงระหว่างปี 2005-2011 โดยได้เชิญหน่วยงานด้านวิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) และมหาวิทยาลัยการแพทย์จีน (China Medical University, CMU) เข้าร่วมศึกษาวิจัยสรรพคุณของยามาอิโมะ (Yamaimo) หรือมันภูเขา และว่านไหมนา โดยหวังว่าจะพัฒนาให้เป็นสมุนไพรจีนและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ต่อมาในปีค.ศ.2006 จึงได้มีการศึกษาวิจัยสรรพคุณของมะระที่มีต่อการปรับระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด และต้านมะเร็ง แต่เนื่องจากมะระที่หน่วยงานวิจัยนำมาใช้ในการทดลองเพื่อศึกษาสรรพคุณด้านสมุนไพรถูกซื้อมาจากตลาด ซึ่งในแต่ละครั้งจะได้มะระที่มีสายพันธุ์และแหล่งเพาะปลูกที่ต่างกัน จึงทำให้สรรพคุณทางสมุนไพรบางครั้งเห็นผล แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย

ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ NSC ทำให้หน่วยงานทางวิชาการในไต้หวันหลายแห่งมุ่งค้นคว้าวิจัย “สารสกัดจากมะระ” จนสามารถขอสิทธิบัตรขั้นตอนการผลิตและสรรพคุณด้านการบำรุงสุขภาพของผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 46 รายการ

ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์เจิ้งเสวี่ยหลิง (鄭雪玲) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง (National Pingtung University of Science and Technology, NPUST) ที่ใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงสามารถสกัดสารกลุ่มไตร
เทอร์พีน (Triterpene) และซาโปนิน (Saponin) จากมะระสายพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 2 ซึ่งคล้ายคลึงกับสารที่สกัดได้จากเครือและผลมะระเขียวของโอกินาวา เมื่อนำมาทดลองกับเซลล์และหนูทดลองพบว่า สามารถลดภาวะดื้อต่ออินซูลินของเซลล์ได้ แสดงให้เห็นว่า มะระมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2

ขณะที่ศาสตราจารย์สวีเสวี่ยอิ๋ง (徐雪瑩) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต มหาวิทยาลัยฉือจี้ (Tzu Chi University, TCU) ใช้เวลาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นำสารสกัดจากมะระมาใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งผลการวิจัยพบว่า สารประกอบบางตัวในสารสกัดจากมะระมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ศ.สวีเสวี่ยอิ๋งย้ำว่า การป้องกันสำคัญกว่าการรักษา ต้องรับประทานมะระเขียวเป็นประจำจึงจะมีผลดีต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หากเพิ่งจะมารับประทานในตอนนี้ก็ถือว่าสายไปเสียแล้ว

จากผลสำเร็จของทีมวิจัยโครงการ NSC อาจกล่าวได้ว่า ถือเป็นแสงสว่างแห่งอนาคตสำหรับมะระขี้นก ทำให้ทีมวิจัยและพัฒนาของสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียน เบนเข็มรุกวิจัยและพัฒนาเพื่อเพาะพันธุ์มะระขี้นกเพื่อการดูแลสุขภาพ

ปีค.ศ.2008 ทีมงานของคุณฉวนจงเหอได้รับลิขสิทธิ์การคุ้มครองพันธุ์พืชของ “มะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4” ต่อมาในปีค.ศ.2010 สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียน ยังพัฒนามะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 5 ซึ่งได้เริ่มทำการปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2002  ผลมะระมีรูปทรง “เตี้ย อ้วน สั้น” ส่วนผิวเปลือกจะ “ขรุขระเป็นปุ่มแหลม” มีสีเขียวเข้ม รูปลักษณ์ภายนอกไม่สวยงามนัก แต่ “อย่าตัดสินมะระจากรูปลักษณ์ภายนอก” จากการทดลองของสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industry Research and Development Institute) พบว่า มะระสองสายพันธุ์นี้เหมาะที่จะนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

คุณฉวนจงเหอกล่าวว่า มะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 และหมายเลข 5 มีความดีเด่นของพันธุ์ลูกผสม (Heterosis) ซึ่งก็เหมือนกับมนุษย์ ที่จะมีปรากฏการณ์ลูกผสมรุ่นที่ 1 ซึ่งจะค่อนข้างเฉลียวฉลาด มะระสายพันธุ์ดังกล่าวจะให้ผลผลิตมากและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

 

แม่พันธุ์ฝ่าวิบากกรรม สร้างรุ่นหลังให้มีคุณภาพ

สิ่งที่ควรค่าแก่การนำมากล่าวถึงเป็นพิเศษคือ ที่มาของต้นแม่พันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 และหมายเลข 5 ที่ผ่านวิบากกรรมทั้งลมทั้งฝนมาอย่างโชกโชน คุณฉวนจงเหอเล่าว่า เมืองฮัวเหลียนต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นเป็นประจำทุกปี มีอยู่ปีหนึ่ง พายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำแปลงต้นกล้ามะระในสวนเพาะพันธุ์จนเสียหายยับเยิน หลังไต้ฝุ่นพัดผ่านไป คนงานตัดเครือมะระทิ้ง “คืนนั้นหลังเข้านอนช่วงกลางดึกในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น ผมฉุกคิดถึงเครือมะระต้นนั้นว่า มันน่าจะยังไม่ตาย” คุณฉวนจงเหอไม่ยอมรอจนฟ้าสาง เขารีบไปที่แปลงต้นกล้า ซึ่งก็พบว่าเครือมะระต้นนั้นยังไม่ถูกเก็บไปทิ้ง หลังจากที่กู้ชีวิตของมันกลับคืนมา และผ่านการผสมข้ามสายพันธุ์กับต้นอื่นที่ยังเหลือรอดมา ทำให้ได้ต้นแม่พันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 และหมายเลข 5 “ต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกตัวเมียในสัดส่วนสูง” นอกจากไม่ได้สูญหายไปจากโลกนี้ แต่ยังทำให้สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนได้รับเงินอุดหนุนอย่างน้อยหลายล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์มะระที่มีคุณภาพสูงในรุ่นต่อไป

Aquavan Technology Co. เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับลิขสิทธิ์พันธุ์พืชของมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 ดร.หลิวจี้โหมว (劉技謀) ผู้จัดการทั่วไปของ Aquavan Technology Co. เปิดเผยว่า พวกเขานำเทคโนโลยี “Supercritical Fluid Extraction” ซึ่งเป็นการสกัดสารด้วยของไหลยิ่งยวด มาใช้ในการสกัดและแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดเบื้องต้นของมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4  ซึ่งได้นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพมากมายหลายชนิด และสามารถส่งออกไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาและทดลองใช้มะระ มาผลิตเป็นยารักษาโรคอีกด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( Food and Drug Administration : FDA) ของสหรัฐอเมริกา และการขอสิทธิบัตรทั่วโลก

สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนยังได้เพาะพันธุ์ “ฮัวเหลียนหมายเลข 7” ซึ่งเป็นมะระพันธุ์ใหม่ที่มีสีขาว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขอสิทธิในพันธุ์พืชจากคณะกรรมการการเกษตรไต้หวัน ตราบจนถึงปัจจุบัน มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีการเพาะปลูกมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 6 ให้แก่ฟาร์มเกษตรและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแล้วรวมทั้งสิ้น 13 ราย ซึ่งได้มีการนำมะระไปพัฒนาเป็นซุปไก่ตุ๋นมะระสกัด น้ำมันเมล็ดมะระ ชามะระ และมะระแคปซูล ตลอดจนต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

คุณฉวนจงเหอกล่าวว่า “ความใฝ่ฝันของผมคือ สักวันหนึ่งมะระขี้นกจะถูกพัฒนาไปเป็นยาต้านมะเร็ง และมะระจะเหมือนกับถั่วแระที่กลายเป็นต้นแบบผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป ที่ได้รับความสำคัญจากคณะกรรมการการเกษตรและสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ”