ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ทีมวิจัย NCKU ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิจัยเทคโนโลยี AI ตรวจจับการลักลอบนำเข้าให้กับด่านศุลกากร
2020-06-16
New Southbound Policy。นายหลี่เจิ้งเต๋อ (ขวา) รองศาสตราจารย์สถาบันวิทยาการข้อมูล และนายไช่อวี้เจ๋อ (ซ้าย) นักศึกษา ร่วมจัดตั้งทีมวิจัยในการคิดค้นวิจัยเทคโนโลยี AI ในกระบวนการอัลกอริทึม (ภาพจาก NCKU)
นายหลี่เจิ้งเต๋อ (ขวา) รองศาสตราจารย์สถาบันวิทยาการข้อมูล และนายไช่อวี้เจ๋อ (ซ้าย) นักศึกษา ร่วมจัดตั้งทีมวิจัยในการคิดค้นวิจัยเทคโนโลยี AI ในกระบวนการอัลกอริทึม (ภาพจาก NCKU)

NCKU วันที่ 15 มิ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. มหาวิทยาลัยเฉิงกง (National Cheng Kung University, NCKU) แถลงว่า ด่านศุลกากรมีหน้าที่คุ้มกันรักษาประตูชายแดนของประเทศนั้นๆ โดยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมศุลกากรในแต่ละประเทศ สินค้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นภาระอันหนักหน่วงของด่านศุลกากรทุกประเทศ เมื่อช่วงที่ผ่านมา นายหลี่เจิ้งเต๋อ รองศาสตราจารย์สถาบันวิทยาการข้อมูลของ NCKU และนายไช่อวี้เจ๋อ นักศึกษา NCKU จึงได้ร่วมกันจัดตั้งทีมวิจัยข้ามชาติกับศูนย์วิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Institute of Basic Science, IBS) ของเกาหลีใต้ ภายใต้เงินอุดหนุนในโครงการโคลัมบัสที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดสรรไว้ให้ อีกทั้งยังได้ร่วมมือกับองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization, WCO) ดำเนินการคิดค้นวิจัยเทคโนโลยี AI ในกระบวนการอัลกอริทึม (Algorithm) เพื่อเป็นตัวช่วยในการสอดส่องการลักลอบนำเข้าสินค้า


 

โดยขณะนี้ ระบบดังกล่าวอยู่ในระหว่างการทดสอบผ่านรูปแบบออนไลน์ ณ ด่านศุลกากรของสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียและสาธารณรัฐมาลาวี โดยดำเนินการทดสอบสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งเทคโนโลยี AI ในกระบวนการอัลกอริทึมประเภทนี้ จะถูกผลักดันไปสู่กรมศุลกากรของทุกประเทศทั่วโลกต่อไป สำหรับวิทยานิพนธ์ด้านการวิจัยดังกล่าว จะนำออกเผยแพร่ในการประชุมสุดยอดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (ACM KDD 2020) ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้


 

โครงการความร่วมมือข้ามประเทศดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2019 และแล้วเสร็จลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) รศ.หลี่ฯ กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้เป็นอย่างมาก โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถสุ่มตรวจสินค้าที่ต้องสงสัยผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ได้ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการสัมผัสกับสินค้าหรือวัตถุที่อาจมีเชื้อไวรัสเกาะติดอยู่ แม้ว่าไต้หวันจะไม่ใช่ประเทศสมาชิกของ WCO แต่คุณประโยชน์จากผลการวิจัยชิ้นนี้ ก็เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงปณิธานที่ว่า Taiwan can help, and Taiwan is helping


 

รศ.หลี่ฯ กล่าวว่า กระบวนการอัลกอริทึมข้างต้นนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบรูปแบบออนไลน์แบบสัปดาห์ละครั้ง ณ ด่านศุลกากรของไนจีเรียและมาลาวี ซึ่งสามารถเห็นผลในการยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจจับการค้าผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถตรวจจับผู้ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีตามจริง ซึ่งเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของกรมศุลกากรและทวงคืนผลประโยชน์ของชาติ โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ค. WCO ได้ประกาศลงในจดหมายข่าวเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว อย่างเป็นทางการแล้ว