กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ วันที่ 17 มิ.ย. 63
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) ของไต้หวัน แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในไต้หวันทุเลาลงอย่างต่อเนื่อง และได้รับการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อกรณีการเปิดประเทศเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการค้าระหว่างประเทศนั้น เจ้าหน้าที่ CECC ได้ร่วมหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมร่วมกำหนด “กฎระเบียบการขออนุมัติเพื่อลดระยะเวลาการกักตัวที่บ้าน สำหรับการเดินทางเข้าสู่ไต้หวันในระยะสั้นของนักธุรกิจชาวต่างชาติ” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. เป็นต้นไป โดยต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเงื่อนไขพื้นฐาน 4 ประการ ดังนี้ (1) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามประกาศของ CECC เท่านั้น (2) ระยะเวลาในการขอพำนักชั่วคราวในไต้หวันต้องไม่เกิน 3 เดือน (3) ต้องเป็นนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาเพื่อทำธุรกรรมการค้าในระยะสั้น อาทิ ตรวจสอบสินค้า ให้บริการหลังการขาย ให้การชี้แนะและฝึกอบรมทางเทคนิค และการเซ็นสัญญา เป็นต้น (4) ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าไต้หวัน ต้องเป็นผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศ / เขตพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด – 19 ในระดับต่ำ – ปานกลาง และภายใน 14 วันก่อนเดินทางเข้าไต้หวัน ต้องไม่เคยมีประวัติการเดินทางไปยังประเทศ / เขตพื้นที่อื่นๆ
CECC ระบุว่า นักธุรกิจที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเงื่อนไข 4 ประการข้างต้น ต้องแนบเอกสารเพื่อแสดงตน ดังต่อไปนี้ จดหมายเชิญของสถานประกอบการในไต้หวัน ตารางกำหนดการต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในไต้หวัน และแผนการป้องกันโรคระบาด พร้อมกันนี้ ยังต้องนำใบรับรองการตรวจเชื้อโควิด - 19 ที่มีผลเป็นลบก่อนออกเดินทาง 3 วัน มาแสดงเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณา สำหรับนักธุรกิจที่มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขข้างต้น หากต้องการติดต่อธุรกิจที่เร่งด่วนหรือเป็นกรณีพิเศษ สามารถยื่นขออนุมัติส่วนบุคคลกับ CECC ได้ นอกจากนี้ ภายใต้พื้นฐานของหลักการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ประกอบกับภายใต้บริบทของประเทศที่มีความปลอดภัยจากโรคโควิด – 19 สามารถร่วมหารือเป็นการเฉพาะกับไต้หวัน ในการลดขั้นตอนการตรวจสอบเป็นรายประเทศไป
ทั้งนี้ CECC ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับนักธุรกิจที่ยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้ว หากเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศ / เขตพื้นที่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับต่ำ ต้องเข้าพำนักในโรงแรมที่ใช้สำหรับการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เป็นเวลา 5 วัน และยื่นเรื่องขอเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด – 19 โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศ / เขตพื้นที่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับปานกลาง ต้องกักตัวให้ครบ 7 วันแล้วจึงจะสามารถขอเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง หากผลการตรวจออกมาเป็นลบ สามารถยื่นขออนุญาตการดูแลสุขภาพด้วยตนเองเป็นเวลา 21 วัน ต่อหน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่น ซึ่งตลอดระยะเวลายังต้องสังเกตอาการตนเอง จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิร่างกายและให้ความร่วมมือในการรายงานต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีขอบเขตจำกัดตามตารางกำหนดการที่แนบเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาในข้างต้น และต้องให้ความร่วมมือกับระบบการยืนยันตน จดบันทึกกิจกรรมประจำวันและรายชื่อของผู้สัมผัสใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการเข้าออกในที่สาธารณะ หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด
CECC แถลงว่า กฎระเบียบข้างต้นใช้ได้สำหรับเฉพาะนักธุรกิจที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาไต้หวันในระยะสั้น สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะพำนักในไต้หวันเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเดิมอย่างเคร่งครัด ซึ่งก็คือต้องกักตัวสังเกตการณ์อาการที่บ้านให้ครบ 14 วัน และไม่สามารถอ้างอิงตามกฎระเบียบข้างต้นนี้ได้ นอกจากนี้ นับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. เป็นต้นไป ผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติไต้หวัน หรือประชาชนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงหรือมาเก๊า ที่ยังไม่ได้รับบัตรถิ่นที่อยู่ (ARC) ไม่สามารถขอรับเงินอุดหนุนในมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 ของไต้หวันได้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ
สำหรับรายชื่อประเทศ / เขตพื้นที่ ที่จัดให้อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับต่ำหรือปานกลาง จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ แนวโน้มและขอบเขตการแพร่ระบาดของแต่ละประเทศ พร้อมทั้งตรวจสอบมาตรการตรวจคัดกรอง ความโปร่งใสของข้อมูลการระบาดล่าสุด และสถานการณ์การระบาดล่าสุดของประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยจะทำการพิจารณาและปรับรายชื่อประเทศ / เขตพื้นที่ตามเกณฑ์เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ โดยประเทศที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับต่ำหรือปานกลาง มีดังนี้ :
1. ประเทศ / เขตพื้นที่ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับต่ำ ประกอบด้วย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย มาเก๊า สาธารณรัฐปาเลา สาธารณรัฐฟิจิ บรูไน เวียดนาม ฮ่องกง ไทย มองโกเลีย และภูฏาน
2. ประเทศ / เขตพื้นที่ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับปานกลาง ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์