กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 17 มิ.ย. 63
เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจหามรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ พร้อมทั้งบูรณาการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางทะเล เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายซือกั๋วหลง อธิบดีกรมมรดกทางวัฒนธรรม (Bureau of Cultural Heritage, BOCH) กระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (Ministry of Culture, MOC) และนายชิวหย่งฟาง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางทะเลแห่งชาติไต้หวัน (National Academy of Marine Research, NAMR) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกัน โดยมีนายเซียวจงหวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายไช่ชิงเสียง รองประธานคณะกรรมการกิจการทางทะเล เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
MOC แถลงว่า NAMR ภายใต้การกำกับดูแลของคกก.กิจการทางทะเล ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2019 โดยมีภารกิจหลักคือเพื่อช่วยเหลือในการกำหนดนโยบายทางทะเล วิจัยวัฒนธรรมทางทะเล ตรวจสอบทรัพยากรทางทะเล และวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นต้น ตั้งแต่ก่อตั้งมาจนปัจจุบัน ได้รวบรวมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญชั้นยอดในหลากหลายสาขา ถือเป็นคลังสมองที่สำคัญด้านการวิจัยทางทะเลของไต้หวัน ส่วน BOCH ได้มุ่งมั่นพัฒนาการวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมในท้องทะเล รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ และการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ มาเป็นระยะเวลายาวนาน เชื่อมั่นว่าการร่วมแบ่งปันข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ประกอบกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม จะมีส่วนช่วยในการยกระดับเทคโนโลยีการตรวจสอบมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ และการวิจัยในภายภาคหน้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รมช.เซียวฯ กล่าวว่า เพื่อขานรับนโยบาย “ให้ความเคารพต่อทะเล” ของสภาบริหารไต้หวัน MOC นอกจากจะดำเนินภารกิจเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำแล้ว ยังคาดหวังที่จะผลักดันโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมออสโตรนีเซียน รวมไปถึงการดำเนินการวิจัยและจัดแสดงประวัติศาสตร์ทางทะเลในยุคแห่งการสำรวจทางทะเล โดยหวังจะส่งเสริมให้สาระสำคัญของวัฒนธรรมทางทะเล มีความสมบูรณ์และหลากหลายเพิ่มมากขึ้น
นายซือฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา BOCH ได้ทยอยมอบหมายให้สภาวิจัยแห่งชาติไต้หวัน (Academia Sinica) ดำเนินภารกิจการสำรวจมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ ในน่านน้ำทางทะเลของไต้หวันอย่างเป็นระบบ โดยปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว ณ สิ้นเดือนพ.ค. ปี 2020 พบแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมกว่า 90 จุด ในจำนวนนี้ มีซากชิ้นส่วนมรดกที่ผ่านการยืนยันว่าเป็นเรืออับปางที่จมหายไปในทะเล จำนวน 20 จุด ประกอบด้วย เรือของจีนในยุคราชวงศ์ชิง จำนวน 6 ลำ เรืออังกฤษในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 จำนวน 3 ลำ เรือสำเภารูปแบบตะวันตก 3 ลำ เรือสหรัฐอเมริกา 1 ลำ และเรือญี่ปุ่นอีก 6 ลำ
นายไช่ฯ กล่าวว่า BOCH ได้มุ่งมั่นดำเนินภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลานาน และมีผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นทั้งด้านการตรวจสอบ อนุรักษ์ และประชาสัมพันธ์มรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ เชื่อมั่นว่าการที่ทั้งสองสถาบันประสานความร่วมมือระหว่างกัน ผนวกรวมทรัพยากรและบุคลากรระหว่าง 2 หน่วยงาน จะเป็นการเสริมสร้างภารกิจการตรวจสอบมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ และเทคโนโลยีการสำรวจและการวิจัย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผอ. ชิวฯ กล่าวว่า มรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำเป็นรากฐานที่สำคัญของการค้นพบวัฒนธรรมทางทะเลของบรรพบุรุษ การตรวจสอบและวิจัย การอนุรักษ์ และการผลักดันทางการศึกษา นับเป็นความร่วมมือข้ามสาขาแบบมืออาชีพ โดยในอนาคต NAMR จะร่วมมือกับ BOCH ในการวิจัยเทคโนโลยีการสำรวจและตรวจจับมรดกทางวัฒนธรรมใต้นํ้า การวิจัยด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของเรืออับปาง ตลอดจนร่วมแบ่งปันข้อมูลการตรวจสอบมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ เพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันสืบไป