สภาบริหาร วันที่ 7 ก.ค. 63
นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีคำพูดติดปากว่า “ไม่มีสิ่งใดที่สามารถต่อรองด้านการศึกษาได้ แม้จะลำบาก แต่การดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กที่เป็นอนาคตของชาติต้องมาก่อน” โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.ค. นรม.ซูฯ ได้เดินทางไปนครไถหนาน เพื่อตรวจ “ความคืบหน้าของการฟื้นฟูสภาพอาคารเรียนเก่าแก่” พร้อมให้คำมั่นว่า “โรงเรียนในทุกพื้นที่ของไต้หวันไม่ว่าในเมืองหรือชนบท จะได้รับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โดยมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จก่อนฤดูร้อนในปี 2022” ซึ่งนรม.ซูฯ ได้เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมรายชื่อและวางแผนอย่างรัดกุม ภายใต้หลักการ “ใช้งานง่าย บำรุงรักษาง่าย และควบคุมง่าย” โดยนโยบายในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความสบายใจให้กับบรรดาผู้ปกครองแล้ว ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและสะดวกสบายให้แก่เด็กนักเรียนอีกด้วย
นรม.ซูฯ กล่าวว่า เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับอุณหภูมิที่นับวันยิ่งเพิ่มสูงขึ้น แต่เด็กๆยังต้องเรียนรู้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนเช่นนี้ โดยเฉพาะในปีนี้ สืบเนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ทำให้การปิดเทอมภาคฤดูร้อนจำเป็นต้องเลื่อนออกไปอีก 2 สัปดาห์ โดยในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด นักเรียนยังต้องเข้าเรียนตามปกติ นรม.ซูฯ เข้าใจดีว่า สภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ของนักเรียน จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด
ด้วยเหตุนี้ นรม.ซูฯ จึงได้ประกาศนโยบาย “รัฐบาลจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้โรงเรียนประถม - มัธยมศึกษาทุกแห่งในไต้หวัน” ในทันที พร้อมชี้แจงว่า เมื่อปีที่แล้ว ตนได้เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการทำการรวบรวมรายชื่อโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อนำเข้าที่ประชุม หลังจากที่ได้ร่วมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว รัฐบาลจึงได้ทำการจัดสรรงบประมาณล่วงหน้าจำนวน 2,300 ล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อใช้ในภารกิจเตรียมการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการจ่ายไฟควบคู่ไปด้วย โดยขณะนี้ นรม.ซูฯ ได้สั่งการให้นายหลี่ม่งเหยียน เลขาธิการสภาบริหาร รวบรวมและจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งคณะทำงานฯ จะร่วมหารือและวางแผน โดยอิงกับแนวคิดด้านพลังงานสีเขียวและการประหยัดพลังงานรูปแบบอัจฉริยะ ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กำชับอย่างเคร่งครัด
นรม.ซูฯ เน้นย้ำว่า เขาได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเศรษฐการ และบริษัทการไฟฟ้าไต้หวัน (Taiwan Power Company) ทำการรวบรวมข้อมูลในทุกด้านอย่างครอบคลุม โดย ศธ. นอกจากจะมีหน้าที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารเรียน สิ่งอำนวยความสะดวก และความคืบหน้าในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแล้ว ยังต้องหารือในประเด็นความเป็นไปได้ในการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อประหยัดพลังงาน และอุปกรณ์ลดอุณหภูมิในตัวอาคาร นอกจากนี้ นรม.ซูฯ ยังได้กำชับว่า การติดตั้งหลังคาแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ลดอุณหภูมิแบบประหยัดพลังงาน จำเป็นต้องเร่งติดตั้งควบคู่กันไป ส่วนอาคารเรียนเก่าแก่ที่จะทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จำเป็นต้องปรับปรุงระบบการจ่ายไฟและการเดินสายไฟก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และการเกิดอุบัติเหตุอื่นๆ