TWAEA วันที่ 13 ก.ค. 63
หน่วยงานด้านการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาของไต้หวัน (Taiwan Assessment and Evaluation Association, TWAEA) สมาคมรับรองวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น (Japan University Accreditation Association, JUAA) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาของไทย (Office for National Education Standards and Quality Assessment, ONESQA) มีกำหนดจัดการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างกันเป็นประจำในทุกปี โดยเจ้าหน้าที่ของทั้ง 3 หน่วยงานมีหน้าที่ผลัดกันจัดกิจกรรมการฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนดังกล่าว ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. - 1 ก.ค. รวมเป็นระยะเวลา 3 วัน
กิจกรรมการฝึกอบรมแบบข้ามประเทศได้ริเริ่มจัดขึ้น นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรใน 3 หน่วยงานข้างต้นอย่างใกล้ชิด โดยบรรดาเจ้าหน้าที่ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินภารกิจด้านการประกันคุณภาพการศึกษา อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม เดิม กิจกรรมในปีนี้มีกำหนดการจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ณ กรุงโตเกียว แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ทำให้ความคืบหน้าของการจัดกิจกรรมตามกำหนดการเดิมต้องหยุดชะงักลง หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมเจรจาหารือซึ่งกันและกัน จึงตกลงที่จะยังคงจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จัดการประชุมนี้ขึ้นในรูปแบบออนไลน์
ทั้งนี้ หัวข้อหลักของการประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ประกอบด้วย “จุดเด่นและจุดด้อยของระบบรับรองคุณภาพ” “การวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเอง” และ “การปรับปรุงและพัฒนาระบบการรับรองคุณภาพในอนาคต” โดยในระหว่างการประชุมแลกเปลี่ยน เจ้าหน้าที่ JUAA ของญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ ONESQA ของไทย ต่างมุ่งประเด็นความสนใจไปที่แนวทางการรับมือของไต้หวัน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยเจ้าหน้าที่ TWAEA นอกจากได้แบ่งปันประสบการณ์การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์การระบาดล่าสุดในช่วงวิกฤตโควิด – 19 แล้ว ยังได้แบ่งปันการวิเคราะห์ข้อมูลของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ป้อนเข้าสู่ระบบการประกันคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบการประกันคุณภาพยังคงดำเนินการตามปกติ ด้วยการจัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นในแต่ละสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ ยังสามารถอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถาม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของสภาพแวดล้อมโดยรวมในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงาน JUAA ของญี่ปุ่น ได้ประยุกต์ใช้กลไกการเข้าสู่ระบบล็อกอินแบบยืนยันตน ในช่วงวิกฤตโควิด - 19 เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพด้านการฝึกอบรมของคณะกรรมการ ขณะเดียวกันก็ได้ประยุกต์ใช้ระบบการประกันคุณภาพ รูปแบบ Cloud system เพื่อคงไว้ซึ่งข้อได้เปรียบของระบบการประกันคุณภาพต่อไป
ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ONESQA ของไทย ได้แบ่งปันการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลเชิงปริมาณในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของการระบบการประกันคุณภาพ พร้อมทั้งร่วมหารือในประเด็นปัญหาและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างที่สถาบันอุดมศึกษาเร่งผลักดันระบบการประกันคุณภาพภายใน รวมไปถึงประเด็นของการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพในอนาคต
ในอนาคต หน่วยงานทั้ง 3 ข้างต้นจะจัดการประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายใต้หัวข้อที่หลากหลาย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันในด้านระบบการศึกษา และระบบกลไกการประกันคุณภาพระดับสากล ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการแสวงหาความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการรับรองและการประกันคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น