ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “พิธีตั้งชื่อเรือและส่งมอบเรือวิจัยทางทะเล ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
2020-07-22
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวินเข้าร่วมพิธีตั้งชื่อเรือ “New Ocean Researcher 1” และพิธีเปิดป้าย รวมทั้งทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่อิงเหวินเข้าร่วมพิธีตั้งชื่อเรือ “New Ocean Researcher 1” และพิธีเปิดป้าย รวมทั้งทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 21 ก.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีตั้งชื่อเรือและส่งมอบเรือวิจัยทางทะเลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันถูกล้อมรอบด้วยทะเลทั้ง 4 ด้าน ประชาชนชาวไต้หวันทุกกลุ่มชนต่างมีความสัมพันธ์กับทะเลอย่างลึกซึ้ง ทั้งในด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตประจำวัน ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สังคมไต้หวันได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับทะเล ผ่านผลสัมฤทธิ์ด้านการวิจัยที่กลุ่มวิจัยทางทะเลได้สั่งสมมา โดยทีมวิจัยชุดใหม่จะทำหน้าที่รับช่วงต่อ และขยายวิสัยทัศน์ด้านการวิจัยทางทะเล ต่อจากพื้นฐานที่มีอยู่เดิมต่อไป


 

ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว เรือ New Ocean Researcher 2 และ New Ocean Researcher 3 ได้ทยอยส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับพิธีส่งมอบในครั้งนี้เป็นการส่งมอบเรือ “New Ocean Researcher 1” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีขีดความสามารถในการเดินเรือมากที่สุด ในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนของ “โครงการล่องเรือไปในทะเลสีคราม” (Sailing to the Blue Sea) ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาควิชาการ เรือ “New Ocean Researcher 1” จะทำการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ “นครเกาสง – เกาะกวม – ปาเลา” เพื่อทำการวิจัยทางทะเลในแถบแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพายุไต้ฝุ่น ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา และกระแสน้ำศูนย์สูตรเหนือ


 

ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ตนมีความเชื่อมั่นว่า การวิจัยทางทะเลของไต้หวัน นอกจากจะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อม เตรียมมาตรการรับมือกับภัยพิบัติได้แล้ว ยังสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาคมโลกได้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณหุ้นส่วนทุกคนที่มีส่วนร่วมในการต่อเรือในครั้งนี้ ประกอบด้วย พนักงานของบริษัท CSBC Corporation, Taiwan นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางทะเล ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การวิจัยเทคโนโลยีทางทะเลของไต้หวันสามารถพัฒนาไปอีกขั้นได้ เป็นผลมาจากการทุ่มเทของพวกเขาเหล่านี้นั่นเอง


 

ปธน.ไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนดีใจมากที่เห็นว่าสภาบริหารไต้หวัน นอกจากจะให้การสนับสนุนด้านการวิจัยทางทะเลแล้ว ยังได้เสนอนโยบาย “ให้ความเคารพต่อทะเล” แบบครบวงจร ซึ่งนอกจากจะสร้างหลักประกันด้านการพัฒนาทางทะเลที่ยั่งยืนแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้คนทำความใกล้ชิดกับทะเลให้มากขึ้นอีกด้วย


 

ท้ายนี้ ปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวอวยพรให้เรือ “New Ocean Researcher 1” ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความราบรื่นและประสบความสำเร็จ พร้อมปิดท้ายว่า “พวกเรามาร่วมสร้างประเทศแห่งท้องทะเล ที่มีความเจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนไปด้วยกัน”