ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เอเปคจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เรียกร้องให้ทุกประเทศฟื้นฟูการหมุนเวียนของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และการเคลื่อนย้ายของบุคลากรข้ามประเทศ
2020-07-27
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายเติ้งเจิ้นจง (กลาง) รมว.ประจำสภาบริหารไต้หวัน นำคณะตัวแทนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจากสภาบริหาร)
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายเติ้งเจิ้นจง (กลาง) รมว.ประจำสภาบริหารไต้หวัน นำคณะตัวแทนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจากสภาบริหาร)

MOFA วันที่ 25 ก.ค. 63

 

มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) (Asia-Pacific Economic Cooperation,  APEC) ประจำปี 2020 ได้จัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (VMRT) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อช่วงเวลา 11:00 – 16:00 ของวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาการค้า สำนักงานเจรจาการค้า สภาบริหาร นำคณะตัวแทนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม บรรยากาศในการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น


 

ระหว่างการประชุม รมว. เติ้งฯ ได้ร่วมอภิปรายกับรัฐมนตรีการค้าของกลุ่มประเทศ / เขตเศรษฐกิจเอเปค ทั้งหมด 20 ประเทศ ในประเด็นว่าด้วยการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว นอกจากนี้ จากแถลงการณ์ของรัฐมนตรีการค้าเอเปค ได้มีการระบุว่า เอเปคมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการธำรงรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพ การเปิดกว้าง ความยุติธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ ความโปร่งใส และสภาพแวดล้อมด้านการค้าและการลงทุนที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศฟื้นฟูการหมุนเวียนของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การเคลื่อนย้ายของบุคลากรข้ามประเทศ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะซบเซา เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน พร้อมให้การสนับสนุนเครือข่ายทางการค้าแบบพหุภาคี ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและเพิ่มขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล อีกทั้งยังต้องเร่งผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อคว้าโอกาสธุรกิจด้านเศรษฐกิจดิจิทัล


 

รมว.เติ้งฯ กล่าวย้ำในระหว่างการประชุมว่า ไต้หวันมีผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่โดดเด่น ภายใต้สถานการณ์โควิด - 19 เช่นนี้ ซึ่งทางการไม่ได้ใช้มาตรการปิดประเทศ ประกาศปิดสถานประกอบการหรือปิดสถานศึกษาแต่อย่างใด ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในชุมชน จึงทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในสังคมยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างมีระบบระเบียบ อีกทั้งรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือด้านมาตรการเยียวยาและการแนะแนวที่เกี่ยวข้องแก่ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs และบรรดาแรงงาน ด้วยเหตุนี้ การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ยังคงรักษาระดับอยู่ที่ค่าเฉลี่ยร้อยละ 1.6 นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีขีดความสามารถที่มากเพียงพอที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลกได้อีกด้วย


 

Mr. Mohamed Azmin bin Ali รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ของมาเลเซีย ได้กล่าวชื่นชมในผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน โดยเฉพาะได้ให้การยอมรับในด้านการประสานความร่วมมืออย่างแนบแน่น ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวัน รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสกัดกั้นโรคระบาด ตลอดจนให้ความช่วยเหลืออย่างกระตือรือร้นแก่ผู้ประกอบการ SMEs


 

เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายของโรคโควิด-19 รมว.เติ้งฯ ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศที่ดำเนินมาตรการควบคุมการค้าแบบฉุกเฉินอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กำหนดขอบเขตการบังคับใช้ที่เฉพาะเจาะจงและควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคระบาดโดยตรง ขณะการดำเนินงาน รวมถึงต้องให้ความเคารพต่อหลักการความโปร่งใสของกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นมาตรการเพียงชั่วคราว และสอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO โดยไต้หวันจะเร่งเจรจาประสานความร่วมมือกับทุกประเทศอย่างกระตือรือร้น ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจของนานาประเทศ ร่วมอภิปรายกันในประเด็นการฟื้นฟูการหมุนเวียนของสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ภายใต้หลักการที่สร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยให้กับมวลมนุษยชาติทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสะดุดของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก