ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รับมือกับสถานการณ์หลังโควิด – 19 ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี AI
2020-07-28
New Southbound Policy。ดร.ถงเจิ้นหยวน (กลาง) และนายไช่อี้ชาง (ขวา) ได้ร่วมถ่ายภาพกับผู้เรียนในหลักสูตรออนไลน์ (ภาพจาก OCAC)
ดร.ถงเจิ้นหยวน (กลาง) และนายไช่อี้ชาง (ขวา) ได้ร่วมถ่ายภาพกับผู้เรียนในหลักสูตรออนไลน์ (ภาพจาก OCAC)

OCAC วันที่ 25 ก.ค. 63

 

เพื่อรับมือกับสถานการณ์หลังโควิด-19 คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (Overseas Community Affairs Council, OCAC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาดิจิทัล (Digital Education Institute) ภายใต้ความดูแลของสถาบันอุตสาหกรรมสารสนเทศไต้หวัน (Institute for Information Industry, III) จัด “หลักสูตรเทคโนโลยี AI สำหรับนักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเล” พร้อมทั้งได้จัดพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา โดย ดร. ถงเจิ้นหยวน ประธาน OCAC และนายไช่อี้ชาง อดีตผู้อำนวยการ III ได้เดินทางเข้าร่วมให้กำลังใจในพิธีครั้งนี้ พร้อมทั้งคาดหวังที่จะประยุกต์ใช้หลักสูตรรูปแบบออนไลน์ ส่งมอบความรู้ทางเทคโนโลยี AI ให้กับนักธรุกิจไต้หวันหรือชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเล ในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล


 

ดร.ถงฯ กล่าวว่า สถาบัน III เป็นหน่วยงานสำคัญที่บ่มเพาะบุคลากรและวิจัยอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ของไต้หวัน จึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ทางสถาบันฯ มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก รวมถึงนักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อนายไช่ฯ ที่อยู่เบื้องหลังในการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน โดยในอนาคต OCAC จะประสานความร่วมมือกับสถาบัน III อย่างใกล้ชิดต่อไป


 

ดร.ถงฯ กล่าวชี้แจงว่า นอกจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว นักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ต่างก็กำลังเผชิญกับ 6 แนวโน้มหลักที่อยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องการความช่วยเหลือจากสถาบัน III ในการเผชิญหน้าในครั้งนี้ ซึ่ง 6 แนวโน้มหลักดังกล่าว ประกอบด้วย ความเป็นสากล กระแสโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบและค่านิยมในสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือด้านเทคโนโลยี หากในอนาคตมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและล้ำหน้า เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารของภาคธุรกิจอย่างแน่นอน


 

นายไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณ OCAC ที่ได้เร่งผลักดันให้เกิดกิจกรรมในครั้งนี้ นำความรู้ของไต้หวันส่งมอบให้นักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเล นายไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากในช่วงเวลาเช่นนี้ ไม่มีระบบดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถพบปะกันได้ ต้นทุนด้านเวลาก็จะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ภายใต้บริบทของเวลาที่มีจำกัด เชื่อว่าการเรียนรู้ดิจิทัลจะเป็นแนวทางที่นักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเล จะให้ความสนใจเรียนรู้มากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน