กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 26 ก.ค. 63
เพื่อดำเนินการตาม “พิมพ์เขียวว่าด้วยการพัฒนาให้ประเทศก้าวสู่ระบบสองภาษา ภายในปี 2030” อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เร่งผลักดันโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างกระตือรือร้นมาเป็นระยะเวลานาน ในจำนวนนี้ “โครงการว่าจ้างอาจารย์ชาวต่างชาติ” ได้มีการดำเนินการผลักดันเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว โดยโรงเรียนมัธยมปลายของภาครัฐที่ได้รับเงินอุดหนุน สามารถจัดจ้างอาจารย์ชาวต่างชาติ มาจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้นได้ อาทิตย์ละ 20 – 22 คาบเรียน เนื่องจากโครงการดังกล่าวบังเกิดผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหมายและได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม จึงส่งผลให้โรงเรียนทั่วไต้หวันทยอยเข้าร่วมโครงการฯ นี้เพิ่มมากขึ้นในทุกปี โดย ศธ.ไต้หวันจะทำการส่งเสริมให้โรงเรียนทั่วทุกพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนในการผลักดันหลักสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน ให้ก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น
ศธ.ไต้หวัน แถลงว่า “พิมพ์เขียวว่าด้วยการพัฒนาให้ประเทศก้าวสู่ระบบสองภาษา ภายในปี 2030” ได้กำหนดเป้าหมายหลักๆ ไว้ 2 ประการ ดังนี้ “ยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศ” และ “เสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษให้กับประชาชนในประเทศ” เพื่อดำเนินนโยบายว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ยกระดับการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศรูปแบบสร้างสรรค์ในโรงเรียนชนบทที่ห่างไกล ตลอดจนธำรงรักษาทรัพยากรในภูมิภาคให้คงอยู่สืบไป ศธ.ไต้หวันได้ดำเนินการพิจารณาอนุมัติ “โครงการว่าจ้างอาจารย์ชาวต่างชาติ” จากจำนวนเอกสารที่ได้รับการยื่นสมัครเข้ามา และเกณฑ์การประเมิน 4 ประการ ประกอบด้วย “รายงานการตรวจการณ์ประจำปีและผลสัมฤทธิ์” “ความสมบูรณ์และความเป็นไปได้ของแผนการดำเนินงาน” “ความสมดุลระหว่างพื้นที่ในแต่ละจังหวัด” และ “การให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส” โดยโรงเรียนมัธยมปลายของภาครัฐที่ได้รับเงินอุดหนุน สามารถจัดจ้างอาจารย์ชาวต่างชาติ ให้มาจัดการสอนในหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบเข้มข้น ตามความต้องการของนักเรียนได้ อาทิตย์ละ 20 - 22 คาบเรียน
ทั้งนี้โครงการข้างต้น สำนักการศึกษาภาคบังคับ ศธ.ไต้หวันได้มอบหมายให้โรงเรียนมัธยม National Experimental High School at Hsinchu Science Park (NEHS) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง โดยทางโรงเรียนฯ ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาเข้าให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการจัดจ้างอาจารย์ชาวต่างชาติ ปีการศึกษาละ 1 – 2 ครั้ง โดยให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการ และอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจการณ์ นอกจากเข้าชมการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้ว ยังได้ทำการซักถามถึงความต้องการของนักเรียน รวมไปถึงทำความเข้าใจกับประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอีกด้วย
สำนักการศึกษาภาคบังคับ ศธ.ไต้หวัน ชี้แจงว่า เพื่อเสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษให้กับภาคประชาชน และยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติ ศธ.ไต้หวันจะดำเนินการผลักดันโครงการดังกล่าวต่อไป ด้วยการดึงดูดบุคลากรยอดเยี่ยมจากต่างประเทศเข้ามาจัดทำการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไต้หวัน สรรค์สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้นักเรียนได้รับอานิสงส์กันอย่างถ้วนหน้ามากยิ่งขึ้น ก้าวสู่เป้าหมายการเป็นประเทศสองภาษา ภายในปี 2030 อย่างเป็นรูปธรรม