กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ วันที่ 29 ก.ค. 63
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) แถลงว่า ต่อกรณีเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ทางรัฐบาลไทยได้ประกาศว่า พบชาวไทยที่เพิ่งเดินทางกลับจากไต้หวันผู้หนี่ง ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หน่วยงานสาธารณสุขของไต้หวันได้เร่งรวบรวมให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่อยู่ในสถานที่ทำงานเดียวกับผู้ป่วยรายดังกล่าวทั้ง 189 คน เข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด – 19 ซึ่งล้วนมีผลเป็นลบ เป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวไม่พบความเสี่ยงในการแพร่ระบาดแต่อย่างใด ส่วนแหล่งแพร่ระบาดอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
CECC ระบุว่า ในวันที่ 29 ก.ค. ไต้หวันไม่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด – 19 รายใหม่ ตราบจนปัจจุบัน ในไต้หวันมีผู้ที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยที่ได้รับรายงานรวม 81,167 คน (จำนวนนี้รวมผู้ที่ได้รับการยืนยันภายหลังว่า ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทั้งสิ้น 80,105 คน) ผู้ป่วยยืนยันมีจำนวน 467 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มี 376 รายเป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 55 รายเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ และ 36 รายเป็นทหารบนเรือรบผานสือ ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย มี 441 รายที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออีก 19 คนยังอยู่ในระหว่างการกักตัวที่โรงพยาบาล
ตามรายงานสถานการณ์การระบาดทั่วโลกที่ CECC ได้รับ ระบุว่า ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 16,701,684 ราย กระจายตัวอยู่ใน 187 ประเทศ / เขตพื้นที่ ประเทศที่มียอดผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,436,478 ราย บราซิล 2,483,191 ราย อินเดีย 1,483,156 ราย รัสเซีย 823,515 ราย อเมริกาใต้ 459,761 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวม 659,892 คน ซึ่งประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ 151,449 คน บราซิล 88,539 คน อังกฤษ 45,878 คน เม็กซิโก 44,022 คน และอิตาลี 35,123คน
CECC ชี้ว่า ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 11 ภายในเกือบ 1 สัปดาห์ ในจำนวนนี้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือสหรัฐฯ และภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ขณะที่สถานการณ์การระบาดในเอเชียใต้ก็ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนการระบาดในยุโรปและประเทศแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีกครั้ง