ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การจัดการฝึกอบรมอาจารย์และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล บังเกิดผลสัมฤทธิ์ ในการยกระดับทักษะความสามารถด้านภาษาจีน ให้กับนักเรียนโอนย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศ
2020-08-04
New Southbound Policy。กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน จัดการฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาในระดับชั้นต้นและระดับแอดวานซ์ สำหรับนักเรียนที่โอนย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศ ในทั่วทุกพื้นที่ของไต้หวัน ในช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูหนาวและฤดูร้อน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)
กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน จัดการฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาในระดับชั้นต้นและระดับแอดวานซ์ สำหรับนักเรียนที่โอนย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศ ในทั่วทุกพื้นที่ของไต้หวัน ในช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูหนาวและฤดูร้อน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)

กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 2 ส.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมานี้ มีบุตรหลานซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมและมัธมศึกษาในไต้หวันหลายคน ประสบกับอุปสรรคด้านการศึกษา เนื่องจากเติบโตมาในประเทศมาตุภูมิของพ่อแม่ที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน ทักษะความสามารถภาษาจีน ด้านการฟัง พูด อ่าน เขียนจึงมีจำกัด หรือแม้กระทั่งไม่มีพื้นฐานทางภาษาจีนมาก่อน หลังจากกลับสู่ไต้หวันแล้ว จึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของไต้หวันได้ หรือแม้กระทั่งไม่สามารถสื่อสารกับอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้ ประสบกับอุปสรรคในการเข้ารับการศึกษาเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ศธ.ไต้หวันจึงได้ประยุกต์ใช้ช่วงเวลาปิดภาคการศึกษาฤดูหนาวและฤดูร้อน ในการจัดการฝึกอบรมบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญ จัดตั้งแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล รวมถึงจัดตั้งระบบรองรับการบริหารและการออกแบบการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่โอนย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรภาษาจีนและหลักสูตรทั่วไปในชั้นเรียน พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นใจในการเรียนรู้ให้กับบรรดานักเรียนอีกด้วย


 

นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา สำนักการศึกษาภาคบังคับ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติเกาสง (National Kaohsiung Normal University, NKNU) จัด “การฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาในระดับชั้นต้นและระดับแอดวานซ์ สำหรับนักเรียนที่โอนย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศในทั่วทุกพื้นที่ของไต้หวัน” ขึ้นในช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยช่วงปิดภาคการศึกษาในปีนี้ได้ติดต่อเชิญอาจารย์และเจ้าหน้าที่สำนักการศึกษาทุกพื้นที่ รวม 81 คนเข้าร่วม โดยการฝึกอบรมในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การยกระดับความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนของอาจารย์ระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา เสริมสร้างให้มีประสิทธิภาพในการจำแนกองค์ประกอบต่างๆ ของนักเรียนที่ย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศ อาทิ วัฒนธรรม ภาษา ความต้องการด้านการเรียนรู้ ประวัติการศึกษา และทักษะทางวิชาการ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงหลักสูตรในชั้นเรียน การประเมิน การแนะแนว ครอบครัวและประสบการณ์การเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย จึงจะถือเป็นการสร้างระบบรองรับการบริหารและการเรียนการสอนในระยะยาว อย่างมีประสิทธิภาพ


 

สำนักการศึกษาภาคบังคับ ระบุว่า นักเรียนโอนย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศนับเป็นประเด็นใหม่ทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาของไต้หวันและความเชื่อมโยงกับการศึกษานานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่านักเรียนของไต้หวันมีโอกาสการเคลื่อนย้ายไปสู่ต่างประเทศ ดังนั้น การสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ดีให้กับเด็กรุ่นหลังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรีรอได้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University, NTNU) และ NKNUในการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาจากมุมมองที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล สรรค์สร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาภาคบังคับ 12 ปีของไต้หวัน ที่เหมาะสำหรับนักศึกษาโอนย้ายสถานศึกษาข้ามประเทศ