กระทรวงมหาดไทย วันที่ 2 ส.ค. 63
เพื่อดึงดูดให้บุคลากรต่างชาติทำงานในไต้หวันระยะยาว เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2016 รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ดำเนินการแก้ไข “กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ” โดยตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีบุคลากรต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่างๆ รวม 149 คน จาก 5 ทวีปทั่วโลก ได้รับอนุญาตให้ถือสัญชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย (Ministry of the Interior, MOI) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เร่งพิจารณาร่างเงื่อนไขสิทธิพิเศษที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้บุคลากรต่างชาติที่มีความรักต่อผืนแผ่นดินในไต้หวัน กลายเป็นพลเมืองชาวไต้หวันโดยสมบูรณ์
MOI แถลงว่า ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ยื่นขอถือสัญชาติสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) มีจำนวนมากขึ้นในทุกปี โดยในจำนวน 149 คนนี้ มี 65 คนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา นับเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือแวดวงเศรษฐศาสตร์และการแพทย์ สาขาละ 24 คน โดยบุคลากรต่างชาติที่เปี่ยมด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่แตกต่างกัน ได้สร้างรูปแบบใหม่ที่หลากหลายให้กับอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมของไต้หวัน
ตามรายงานสถิติของ MOI ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ถือสัญชาติสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) มีอายุโดยเฉลี่ย 50 ปี โดยอายุระหว่าง 40 – 44 ปี มีจำนวนทั้งหมด 28 คน นับเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด อายุระหว่าง 45 – 49 ปีและ 55 – 59 ปี กลุ่มละ 27 คน ส่วนกลุ่มที่อายุน้อยที่สุด มีอายุเพียง 32 ปี ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มเยาวชนและกลุ่มวัยทำงาน
หากพิจารณาในแง่สัญชาติ สัญชาติอเมริกันครองสัดส่วนมากที่สุด มีจำนวน 38 คน รองลงมาคือมาเลเซีย มีจำนวน 37 คน หากแยกเป็นทวีปพบว่า ทวีปเอเชียเป็นกลุ่มที่ครองสัดส่วนมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 61 คน คิดเป็นร้อยละ 40.9 ซึ่งนอกจากมาเลเซียแล้ว ก็ยังมีไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น รองลงมาคือมาจากทวีปอเมริกา มีจำนวน 46 คน คิดเป็นร้อยละ 30.9 โดยปัจจุบันพำนักอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ของไต้หวัน มีจำนวน 121 คนกระจายตัวอยู่ใน 6 นคร ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 81.2 ในจำนวนนี้ พำนักอยู่ในกรุงไทเป เป็นจำนวน 53 คน คิดเป็นร้อยละ 35.6
MOI ระบุว่า ได้จัดตั้ง “แพลตฟอร์มการยื่นขอถือสัญชาติสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) สำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง” (เว็บไซต์ภาษาจีน : https://www.ris.gov.tw/app/portal/763 ; เว็บไซต์ภาษาอังกฤษ : https://www.ris.gov.tw/app/en/763) ในเว็บไซต์ให้บริการข้อมูลทั่วโลกของกรมทะเบียนราษฎร์ โดยภายในแพลตฟอร์มมีข้อมูลขั้นตอนการยื่นขอ และช่องทางการติดต่อ เป็นต้น