MAC วันที่ 6 ส.ค. 63
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ (Mainland Affairs Council, MAC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เผยรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเป็นวาระประจำ โดยรายงานระบุว่า ประชาชนไต้หวันกว่าร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจีนออก “กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกง” โดยร้อยละ 80.9 เห็นว่า เป็นการลิดรอนเสรีภาพ ประชาธิปไตย และทำลายความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ รวมทั้งทำลายหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” และมีประชาชนกว่าร้อยละ 84 ไม่เห็นด้วยที่กฎหมายฉบับดังกล่าวขยายขอบเขตการบังคับใช้ไปทั่วโลก โดยอีกร้อยละ 84.9 เรียกร้องให้องค์กรทางการเมืองและตัวแทนที่เกี่ยวข้อง ทำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวพันกับฮ่องกง ซึ่ง MAC เห็นว่า จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความคิดเห็นของประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า รัฐบาลจีนได้ทำลายหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ของฮ่องกง และสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
โดย MAC ชี้ว่า จากผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ประชาชนไต้หวันร้อยละ 88.8 ไม่เห็นด้วยกับหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ของรัฐบาลจีน โดยประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ต่อต้านการที่จีนใช้กำลังทางทหารข่มขู่ไต้หวัน (ร้อยละ 90.9) และมีประชาชนร้อยละ 91.8 ไม่เห็นด้วยกับการที่จีนพยายามแทรกแซงกิจการด้านการต่างประเทศของไต้หวัน
สำหรับประเด็นที่สังเกตการณ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งนั้น ประชาชนร้อยละ 86.1 เห็นว่า ด้านความสัมพันธ์กันจีน ควร “คงสถานะในปัจจุบัน” อีกทั้งยังมีผู้ที่เห็นว่า รัฐบาลจีนมีทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรต่อรัฐบาลไต้หวันและประชาชนไต้หวัน ในสัดส่วนร้อยละ 75.4 และ 60.5 ตามลำดับ โดยกว่าร้อยละ 88.1 เห็นว่า อนาคตของไต้หวันและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ต้องมาจากการตัดสินใจของประชาชนไต้หวันทั้ง 23 ล้านคนเท่านั้น
โดย MAC ย้ำว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลจีนไม่เคยล้มเลิกแนวทางการใช้กำลังทางทหารเข้ายึดครองไต้หวัน พร้อมทั้งมีพฤติกรรมคุกคามไต้หวันทั้งทางวาจาและข่มขู่ด้วยอาวุธ เพื่อบีบบังคับให้ไต้หวันยอมรับแนวคิดทางการเมืองที่ฉาบฉวยและเปี่ยมไปด้วยข้อผิดพลาด และนี่ก็คือปัจจัยหลักที่บ่อนทำลายสันติภาพของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลจีนอย่ามองสถานการณ์แบบผิดเพี้ยน จงใจสร้างความขัดแย้ง และต้องการจะเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบัน โดยรัฐบาลไต้หวันจะธำรงรักษาอำนาจอธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้สองฝั่งช่องแคบไต้หวันรักษาปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบนพื้นฐานของ “สันติภาพ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย และการเจรจา”