ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันเข้าร่วม “แผนพัฒนาศักยภาพสตรี แบบยกกำลังสอง” ของสถาบัน DFC สหรัฐฯ
2020-08-10
New Southbound Policy。จดหมายข่าวที่สถาบัน DFC ประกาศลงบนหน้าเว็บไซต์ ระบุว่า ไต้หวัน – สหรัฐฯ ร่วมเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน ใน“แผนพัฒนาศักยภาพสตรี แบบยกกำลังสอง” (ภาพจากเว็บไซต์สถาบัน DFC)
จดหมายข่าวที่สถาบัน DFC ประกาศลงบนหน้าเว็บไซต์ ระบุว่า ไต้หวัน – สหรัฐฯ ร่วมเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน ใน“แผนพัฒนาศักยภาพสตรี แบบยกกำลังสอง” (ภาพจากเว็บไซต์สถาบัน DFC)

MOFA วันที่ 7 ส.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ตามเขตเวลาตะวันออกของสหรัฐฯ นางเซียวเหม่ยฉิน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐอเมริกา และ Mr. Adam Boehler ผู้อำนวยการสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (DFC) ได้ร่วมกันประกาศว่า ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน ภายใต้ “แผนพัฒนาศักยภาพสตรี แบบยกกำลังสอง” (2X Women’s Initiative) โดยได้เสนอแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้แก่สตรี กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะเห็นไต้หวัน – สหรัฐฯ เสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างกันในเชิงลึก พร้อมทั้งร่วมให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาขีดความสามารถของสตรีในประเทศพันธมิตรแถบทะเลแคริบเบียนและภูมิภาคลาตินอเมริกา


 

“แผนพัฒนาศักยภาพสตรี แบบยกกำลังสอง” เป็นโครงการย่อยภายใต้ “แผนการพัฒนาระดับสากลและความมั่งคั่งของสตรี” ของทำเนียบขาวสหรัฐฯ โดยกต.ไต้หวันได้ทุ่มงบประมาณในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และประสานความร่วมมือกับสถาบัน DFC ในการร่างแนวทางการจัดการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้ประกอบการสตรี ในประเทศพันธมิตรในแถบทะเลแคริบเบียนและภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นการบ่มเพาะศักยภาพให้กับสตรีแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านระบบทางสังคมที่สตรีในประเทศที่กำลังพัฒนาต้องเผชิญหน้า ซึ่งจะส่งผลให้สังคมและประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


 

สำหรับประเด็นการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรีนั้น เมื่อปีที่แล้ว ไต้หวันและบริษัทการลงทุนเอกชนในต่างประเทศ (OPIC) ซึ่งก็คือสถาบัน DFC ในปัจจุบัน ได้ประสานความร่วมมือในการผลักดันแผนความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเศรษฐกิจของสตรีในสาธารณรัฐปารากวัย โดยในปีนี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯได้วางแผนกำหนดจัด “โครงการค่ายฝึกอบรมผู้ประกอบการสตรีวัยทำงาน” อีกทั้งในการประชุมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ และสาธารณรัฐกัวเตมาลา ก็ได้มีการกำหนดให้การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของการประชุมด้วยเช่นกัน


 

ในอนาคต กต.ไต้หวันจะผลักดันประเด็นความเสมอภาคทางเพศต่อไป และจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตร ในการยกระดับสิทธิของสตรีในการเข้ามีส่วนร่วมในสาขาอาชีพต่างๆ รวมถึงตำแหน่งผู้นำขององค์กร ทั้งนี้ เพื่อสร้างคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้กับประเด็นสตรีทั่วโลก