ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ก.วัฒนธรรมจัด “โครงการหัวข้อพิเศษว่าด้วยการแลกเปลี่ยนกับประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่” แสดงให้เห็นถึงการเห็นพ้องกันทางด้านวัฒนธรรมในเชิงลึกระหว่างไต้หวันกับนานาชาติ
2020-08-13
New Southbound Policy。ภายในปี 2020 กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ได้อนุมัติ “โครงการหัวข้อพิเศษว่าด้วยการแลกเปลี่ยนกับประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่” รวม 11 รายการ (ภาพจาก MOC)
ภายในปี 2020 กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน ได้อนุมัติ “โครงการหัวข้อพิเศษว่าด้วยการแลกเปลี่ยนกับประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่” รวม 11 รายการ (ภาพจาก MOC)

MOC วันที่ 10 ส.ค. 63

 

นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา กระทรวงวัฒนธรรม (Ministry of Culture, MOC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหลายปีมานี้ ทางกระทรวงฯ ได้รวบรวมและสะสมหัวข้อที่กรรมการจากประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ให้ความสนใจและทำความเข้าใจกับศิลปะและวัฒนธรรมของไต้หวันในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ยังคงลุกลามไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานผลสัมฤทธิ์ของคณะกรรมการ และขยายขอบเขตความรู้ความเข้าใจทางด้านศิลปะวัฒนธรรมให้กับกรรมการที่ปรึกษาของแต่ละประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา MOC จึงได้ติดต่อเชิญกรรมการในสมัยที่ผ่านๆ มายื่นเสนอโครงการแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องและงานวิจัยในหัวข้อพิเศษที่เกี่ยวกับไต้หวัน


 

MOC แถลงว่า เพื่อผลักดันหนึ่งในแพลตฟอร์มทางวัฒนธรรมที่สำคัญในประเทศเป้าหมายมุ่งใต้ใหม่ ประกอบกับกรรมการที่ปรึกษากิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยที่ผ่านๆ มา ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรชั้นยอดในสาขาศิลปะวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ สืบเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด – 19 ในปีนี้จึงไม่สามารถเชิญกรรมการจากแต่ละประเทศเดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนกับประชาชนในไต้หวันได้ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเชิญให้กรรมการจากแต่ละประเทศ ร่วมเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างคึกคัก โดยต่างนำเสนอแผนปฏิบัติการที่เปี่ยมด้วยความหลากหลายและมีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติการ


 

โดยในปี 2020 MOC ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการ ภายใต้ “โครงการหัวข้อพิเศษว่าด้วยการแลกเปลี่ยนกับประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่” รวม 11 รายการ ในจำนวนนี้ กรรมการที่ยื่นเสนอเข้ามา ประกอบด้วย กรรมการจากประเทศไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยขอบเขตการเข้าร่วมขยายครอบคลุม 12 ประเทศ ประกอบด้วย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย และลาว เป็นต้น ทั้งนี้ ผลงานวิจัยแต่ละรายการได้มุ่งประเด็นไปที่การวิจัยกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองไต้หวันและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน รวมไปถึงประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปะภาพยนตร์ ศิลปะชีวภาพ และเพลงพื้นเมือง เป็นต้น ด้วยรูปแบบการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่มากมาย สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของการเชื่อมโยงความจำและวัฒนธรรม ระหว่างไต้หวันและประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่


 

ในจำนวนนี้ แผนการเข้าพำนักในหมู่บ้านเพื่อทำการวิจัยและแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปินไต้หวัน – ไทย ซึ่งสาระสำคัญของแผนการข้างต้นคือ คุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน และซูปั๋วฉี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Hong-Gah Museum คาดหวังที่จะส่งเสริมให้ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวไทย - ไต้หวันร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันผ่านกิจกรรมข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อขยายเครือข่ายแวดวงศิลปะของทั้งสองประเทศที่มีอยู่เดิมให้เกิดความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน และพิพิธภัณฑ์ Hong-Gah Museum ต่างติดต่อเชิญศิลปินและภัณฑารักษ์เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของผู้อำนวยการทั้งสอง ทั้งในกรุงเทพและกรุงไทเป โดยกิจกรรมนี้มีกำหนดการจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งนอกจากจะได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและห้องจัดแสดงต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังได้มีการจัดตั้งช่องทางการติดต่อระหว่างหมู่บ้านศิลปะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดการประชุมรูปแบบออนไลน์ เพื่อร่วมหารือในเชิงลึกกับผู้เข้าร่วมทุกคนอีกด้วย