ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
คืนชีวิตให้ท้องทะเล หวังหมิงเสียง ผู้สร้างแหล่งวางไข่ให้หมึกหอม
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-09-14

คุณหวังหมิงเสียงพาเด็กเล็กและผู้ใหญ่นำกิ่งไผ่มามัดเข้าด้วยกันเพื่อทำเป็นที่วางไข่ของหมึกหอม และยังถือโอกาสประชาสัมพันธ์แนวคิดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

คุณหวังหมิงเสียงพาเด็กเล็กและผู้ใหญ่นำกิ่งไผ่มามัดเข้าด้วยกันเพื่อทำเป็นที่วางไข่ของหมึกหอม และยังถือโอกาสประชาสัมพันธ์แนวคิดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
 

คนที่อาศัยท้องทะเลในการทำมาหาเลี้ยงชีพมีมากมาย แต่คนที่ปกป้องท้องทะเลกลับมีแค่หยิบมือเดียว และยังมีอีกจำนวนมากเอาแต่จะหาประโยชน์จากท้องทะเล พวกเขาหารู้ไม่ว่า การจับสัตว์น้ำเกินขนาดและขยะที่ลอยอยู่ในทะเล ทำลายท้องทะเลที่เคยงดงามจนย่อยยับ

หวังหมิงเสียง (王銘祥) เป็นชาวประมงที่รักทะเลเป็นชีวิตจิตใจ และยังเป็นครูสอนดำน้ำ เขาจึงเหมาะสม อย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้แก่ท้องทะเล เขาทุ่มเทความพยายามอย่างสุดกำลังความสามารถในการอนุรักษ์ท้องทะเลอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเขาจนเติบโต โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

 

ทีมงานไต้หวันพาโนรามามีโอกาสได้เจอกับคุณหวังหมิงเสียงที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติไต้หวัน (National Museum of Marine Science and Technology : NMMST) ในเมืองจีหลง วันนั้นเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ท้องฟ้ามืดครึ้มและมีฝนตกโปรยปราย แต่นักท่องเที่ยวจากแดนไกลยังคงหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ณ ลานโล่งนอกชายคาอาคาร คุณหวังหมิงเสียงพาเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรม นำต้นไผ่ “มากินหน่อย” (ชื่อภาษาจีนคือ 桂竹 อ่านว่า กุ้ยจู๋ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllostachys makinoi Hayata เป็นไผ่พื้นเมืองของไต้หวัน และถูกนำไปปลูกในประเทศไทย ชื่อไผ่มากินหน่อย มาจากคำว่า makinoi) มาตัดให้ได้ขนาดที่พอเหมาะ จากนั้นมัดกิ่งไผ่แต่ละกิ่งเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีผูกแบบเงื่อนพิรอด แล้วสานเป็นรูปพัด เพื่อทำเป็นกัลปังหาจำลอง สำหรับใช้เป็นที่วางไข่ของหมึกหอม

เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติไต้หวันที่ช่วยงานอยู่ข้างๆ แนะนำคุณหวังหมิงเสียงให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมรู้จักในนามของ “โค้ชลูกสูบ” หรืออีกฉายาหนึ่งคือ “อากงหมึกหอม” แม้อายุอานามของคุณหวังหมิงเสียงเพิ่งจะเข้าสู่วัย 50 ปีต้นๆ เท่านั้น แต่เนื่องจากเขาทุ่มเทให้กับงานเพาะพันธุ์หมึกหอมมาเป็นเวลานานถึง 12 ปี ซึ่งได้ทำให้หมึกหอมที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี มีแหล่งที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์โดยไม่ถูกรบกวนจากโลกภายนอกที่บริเวณน่านน้ำทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน ดังนั้น ฉายาของคุณหวังหมิงเสียงจึงเปลี่ยนจากช่วงแรก คือ “คุณพ่อหมึกหอม” มาเป็น “คุณลุงหมึกหอม” ตามมาด้วย “อากงหมึกหอม” จนกระทั่งในปัจจุบันคุณหวังหมิงเสียงบอกว่า หากจะนับรุ่นกันจริงๆ เขาน่าจะเป็นรุ่น “เทียด” แล้ว
 

คุณหวังหมิงเสียงกำลังจะดำน้ำเพื่อนำไม้ไผ่ลงไปวางใต้ทะเลที่ระดับความลึก 24 เมตร

คุณหวังหมิงเสียงกำลังจะดำน้ำเพื่อนำไม้ไผ่ลงไปวางใต้ทะเลที่ระดับความลึก 24 เมตร
 

ผู้ชายอกสามศอกที่รักทะเลเป็นชีวิตจิตใจ

เมื่อพูดถึงท้องทะเล ดวงตาของคุณหวังหวังหมิงเสียงจะฉายแววสุกใสและน้ำเสียงก็เปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น คุณหวังหมิงเสียงเกิดและเติบโตที่เมืองจีหลง (เมืองท่าสำคัญทางภาคเหนือของไต้หวัน) เห็นเรือประมงแล่นไปมาอยู่ในทะเลตั้งแต่เล็กจนโต ตอนเด็กๆ ผู้เฒ่าผู้แก่จะตักเตือนอยู่เสมอว่า “ชายทะเลอันตราย อย่าไปนะ” แต่ด้วยความที่มีใจรักในท้องทะเล คุณหวังหมิงเสียงจึงไม่เคยเชื่อฟัง บ่อยครั้งที่ถูกตีเพราะหนีไปเล่นน้ำทะเล แต่ก็ไม่เคยเข็ด

คุณหวังหมิงเสียงเล่าว่า “เวลาอารมณ์ไม่ดี แค่ได้มาที่ชายทะเล จิตใจก็จะเบิกบานขึ้นมาทันที” ดังนั้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจึงมีเรือเป็นของตัวเอง เริ่มจากเรือเล็กจนถึงเรือใหญ่ สถิติสูงสุดคือเคยมีเรือถึง 5 ลำ และเขายังได้รับใบอนุญาตดำน้ำสากล ปัจจุบันคุณหวังหมิงเสียงยึดอาชีพพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำและตกปลาในทะเล หรือบางครั้งก็ไปช่วยสำรวจระบบนิเวศท้องทะเล

คุณหวังหมิงเสียงได้ชื่อว่าเป็น Slash person โดยแท้ (Slash person หรือ 斜槓中年 อ่านว่า เสียกั้งจงเหนียน หมายถึง คนที่มีหลายอาชีพหรือหลายสถานภาพ เป็นคำแสลงที่ใช้ในไต้หวัน) ทั้งนี้ เพราะเขายังมีอีกสถานภาพหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาชีพหลักซึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่กู้ภัย คุณหวังหมิงเสียงเข้าร่วมสนับสนุนภารกิจกู้ภัยมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี เคยเข้าออกสถานที่เกิดเหตุภัยพิบัติที่อยู่ในสภาพพินาศย่อยยับนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ พื้นที่ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นช้างสารพัดถล่ม, เหตุการณ์ภัยพิบัติจากไต้ฝุ่นมรกต เมื่อ 8 ส.ค. 2009 และอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบินทรานส์เอเชียตก เป็นต้น เนื่องจากการกู้ภัยในสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะถือเคล็ดในเรื่องการเรียกชื่อจริง บวกกับครอบครัวของคุณหวังทำกิจการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และยังรับแต่งรถจักรยานยนต์ด้วย เขาจึงผุดไอเดียใช้คำว่า “ลูกสูบ” มาเป็นรหัสเรียกแทนชื่อตัวเอง และเป็นที่มาของฉายา “โค้ชลูกสูบ” ที่ติดตัวเขามาจนถึงทุกวันนี้

เนื่องจากผ่านเหตุการณ์ล้มหายตายจากมามาก จึงรู้ซึ้งถึงสัจธรรมแห่งความไม่เที่ยงในสรรพสิ่ง ทำให้คุณหวังหมิงเสียงเป็นคนใจกว้างและโอบอ้อมอารี เขาทุ่มเทให้กับภารกิจอนุรักษ์ท้องทะเล ตราบจนถึงปัจจุบันหมดเงินไปกับภารกิจนี้กว่าหนึ่งล้านเหรียญไต้หวันแล้ว แต่เขาไม่ได้คิดอะไรมาก เขากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “มีกำลังแค่ไหน ก็ทำแค่นั้น ตอนที่ทำก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร สิ่งสำคัญคือ ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและท้องทะเลมากน้อยแค่ไหน”

 

หายนะในท้องทะเล ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

คนที่อาศัยทะเลเป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่มีความคิดกันว่า “ทะเล คือตู้เย็นในบ้านของเรา” ถ้าเย็นนี้อยากทำกับข้าวเพิ่ม ก็แค่ไปจับปลาและงมหอยที่ชายทะเลก็ได้แล้ว คุณหวังหมิงเสียงก็เช่นเดียวกัน แต่จากการที่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแปรเปลี่ยนไป ท้องทะเลที่เคยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันถูกทำลายจนแทบไม่เหลือร่องรอยในอดีต

อยู่มาวันหนึ่ง คุณหวังหมิงเสียงเกิดความสงสัยว่า ทำไมปลาที่ตกได้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ เขาจึงดำน้ำลงไปใต้ทะเลเพื่อดูให้รู้แน่ เขาพบว่าน่านน้ำที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ ซึ่งรวมถึงกุ้งมังกรด้วย ปัจจุบันกลับเต็มไปด้วยขยะที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีซากอวนจับปลาถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาด สิ่งเหล่านี้ปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเขาให้ตื่นขึ้นมา เมื่อคุณหวังหมิงเสียงได้เป็นครูสอนดำน้ำ ทุกครั้งก่อนพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำ เขาจะพาไปเก็บขยะในทะเลก่อน เมื่อเก็บขยะเสร็จแล้วจึงจะพาไปดำน้ำและชมสถานที่ท่องเที่ยว

12 ปีก่อน เขามีโอกาสไปช่วยชาวประมงที่หมู่บ้านปาโต่วจื่อ (八斗子 หมู่บ้านชาวประมงในเมืองจีหลง) นำกิ่งไผ่ลงไปวางใต้ทะเล แม้น่านน้ำทางตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นแหล่งหมึกหอมที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมถูกทำลาย หมึกหอมจำต้องวางไข่ในทะเลที่เต็มไปด้วยขยะและซากอวน พวกเขาจึงต้องสร้าง “แหล่งวางไข่จำลองหรูหราระดับ 6 ดาว” ให้แก่หมึกหอม เพื่อเพิ่มอัตราการฟักไข่ของหมึกหอมให้สูงขึ้น

หลังจากนั้นเป็นต้นมา คุณหวังหมิงเสียงทุ่มเทให้กับภารกิจนี้อย่างเต็มที่ เมื่อถึงฤดูวางไข่ของหมึกหอมซึ่งอยู่ระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคมของทุกปีไม่ว่าจะมีงบประมาณสนับสนุนหรือไม่มีคนเข้าร่วมภารกิจและได้รับความสนใจจากโลกภายนอกมากน้อยเพียงใดแต่คุณหวังหมิงเสียงยังคงเพียรพยายามมุ่งมั่นดำเนินภารกิจนี้เป็นประจำทุกปีอย่างไม่เคยหยุดยั้งตราบจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าในช่วงแรก หน่วยงานภาครัฐคัดค้านอย่างรุนแรง เพราะถือว่ากิ่งไผ่เป็นปะการังเทียมชนิดหนึ่ง การนำลงไปวางใต้ทะเลต้องขออนุญาตก่อน แต่จากการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ อาทิ คุณเฉินลี่สู (陳麗淑) ผู้ช่วยนักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติไต้หวัน บวกกับการติดตามบันทึกข้อมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าวิธีการนี้ได้ผลจริง รัฐบาลจึงหันมาให้การสนับสนุน
 

ความงดงามของท้องทะเล ควรค่าอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันพิทักษ์รักษาไว้ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน

ความงดงามของท้องทะเล ควรค่าอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันพิทักษ์รักษาไว้ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน
 

กำหนดเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล คืนชีวิตให้ลูกหมึกหอม

การสร้างแหล่งวางไข่ให้หมึกหอมเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภารกิจการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากอยู่มาวันหนึ่ง คุณหวังหมิงเสียงพบว่า บริเวณที่เขานำกอไผ่ลงไปวางใต้ทะเลได้กลายเป็นสวรรค์ของนักตกปลา “แม้แต่คนที่ตกไม่เป็น ถ้าไปตกที่นั่นก็ได้ปลากันทั้งนั้น” และจากการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก แม้ลูกหมึกหอมจะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่หมึกหอมตัวใหญ่ๆ ยังคงพบเห็นได้น้อยมาก

วงจรชีวิตของหมึกหอมมีระยะเวลาสั้นๆ แค่ปีเดียวเท่านั้น คุณหวังหมิงเสียงอธิบายว่า “อายุของหมึกหอม 4 วัน จะเท่ากับอายุของคน 1 ปี” หมึกหอมกินอาหารมาก ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว หากให้เวลามัน หมึกหอมก็จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ระยะเวลาครึ่งปีจะมีน้ำหนักมากถึง 2 กิโลกรัม นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตได้สืบพันธุ์แล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง คุณหวังหมิงเสียงจึงพยายามเกลี้ยกล่อมบรรดานักตกปลาหมึก ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลเร่ง
บัญญัติกฏหมายห้ามจับหมึกหอมที่ขนาดลำตัวยาวไม่ถึง 15 เซนติเมตร เขาบอกว่า “ในเมื่อมีการบัญญัติกฎหมายคุ้มครองปูแล้ว หมึกหอมที่มีจำนวนน้อยกว่าปูเสียอีก ทำไมจะบัญญัติกฏหมายขึ้นมาคุ้มครองไม่ได้?” แม้แนวคิดดังกล่าวของคุณหวังหมิงเสียงจนแล้วจนรอดก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองสักที แต่เขาไม่เคยเลิกล้มความพยายาม สุดท้ายเขาเปลี่ยนไปใช้วิธีเสนอให้มีการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในน่านน้ำใกล้ชายฝั่ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของหมึกหอมโดยปราศจากการรบกวนจากโลกภายนอก ในที่สุด แนวคิดของคุณหวังหมิงเสียงก็ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักวิชาการ จนนำไปสู่การจัดตั้ง “เขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล อ่าววั่งไห่เซี่ยงเฉาจิ้ง” (Wanghaixiang Chaojing Bay Resource Conservation Area) ในปี 2016 ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลแห่งแรกในเมืองจีหลง

นอกจากผลักดันการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ฯแล้ว เขายังผลักดันในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เขารวบรวมพลังมวลชนเพื่อร่วมกันเก็บขยะและซากอวนใต้ท้องทะเลบริเวณน่านน้ำใกล้ชายฝั่งจนสะอาดเอี่ยม และผลักดันให้เลิกใช้อวนแบบตาข่ายถี่จับปลาที่จับกุ้งหอยปูปลาทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่จนสิ้นซาก

อย่างไรก็ดี เคยมีชาวประมงบางคนเหน็บแนมเขาว่า “ทีไอ้พวกที่แอบใช้อวนลอยติดตาไม่เห็นไปจับ แล้วมากำหนดเขตอนุรักษ์ฯ มันจะมีประโยชน์อะไร” คำพูดเหล่านี้ทำให้คุณหวังหมิงเสียงที่เป็นคนจริงจังและตรงไปตรงมา ขับเรือคู่ชีพออกทะเลไปช่วยเจ้าหน้าที่ป้องกันชายฝั่งไล่จับเรือประมง ที่แอบใช้อวนลอยติดตาลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย และยังเชือดไก่ให้ลิงดู โดยใช้วิธีปรับหนักและเข้มงวดตรวจจับ ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้เทศบาลเมืองจีหลงจัดทำมาตรการลงทะเบียนชื่อผู้ใช้อวนลอยติด เพื่อบริหารจัดการเครื่องมือทำประมงบนเรือประมงทุกลำอย่างจริงจัง ผลจากการดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ในที่สุด ได้ทำให้บรรดาชาวประมงที่เคารพกฎหมายและไม่พอใจการลักลอบใช้อวนลอยติดแต่ไม่กล้าแสดงความเห็น ได้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงของคุณหวังหมิงเสียง และเปลี่ยนท่าที่มาสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่

เป้าหมายสุดท้ายที่คุณหวังหมิงเสียงปรารถนาจะให้บรรลุผลก็คือ การขยายเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้ครอบคลุมน่านน้ำทั้งหมดของอ่าววั่งไห่เซี่ยง (หรือเรียกอีกชื่อว่า อ่าวฟันไจ๋) แม้จะทำให้ชาวประมงไม่สามารถจับปลาในน่านน้ำดังกล่าวได้ แต่สามารถเลียนแบบโมเดล “นั่งเกวียนไปเก็บหอยนางรม” ที่ตำบลฟางย่วน เมืองจางฮั่ว ซึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยชาวประมงสามารถนำเรือประมงของตัวเองที่มีอยู่แล้ว มาใช้ในการประกอบอาชีพด้วยการพานักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมทางน้ำในทะเล

คุณหวังหมิงเสียงต้องการใช้กิจกรรมทางน้ำในการดึงดูดผู้คนให้มาทำความรู้จักกับท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เขาหลงใหลแห่งนี้ให้มากขึ้น เพราะความงดงามที่ได้มาไม่ง่ายนี้ ควรค่าอย่างยิ่งที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันพิทักษ์รักษาไว้ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน