ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ระยะห่างระหว่างเรากับดวงดาว พันธมิตรพิทักษ์กลุ่มดาวบนท้องฟ้า
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-09-28

แหงนมองท้องฟ้า มนุษย์เรามีความหลงใหลในหมู่ดาวบนท้องฟ้ามาตั้งแต่เกิด

แหงนมองท้องฟ้า มนุษย์เรามีความหลงใหลในหมู่ดาวบนท้องฟ้ามาตั้งแต่เกิด
 

ด้วยพลังแห่งจินตนาการ เราคงเคยผ่านการเดินทางท่องไปตามดวงดาวต่างๆ หรือแม้กระทั่งสามารถติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวได้ผ่านภาพยนตร์ไซไฟมาแล้ว แต่สำหรับการเสาะแสวงหาเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศและความรู้ความเข้าใจต่อดาราศาสตร์นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่นักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นแต่ละคนเฝ้าสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้าโดยไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งคืนเป็นเวลายาวนาน ดวงดาวแต่ละดวงเรียงรายอยู่บนแผ่นฟ้า ค่อยๆ เผยความลับอันน่าพิศวงของหมู่ดาวบนท้องฟ้าทีละนิด

 

สถานีดาราศาสตร์ลู่หลิน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยแห่งชาติจงยาง (National Central University) ตั้งอยู่บนภูเขาลู่หลินส่วนหน้า ใกล้กับอุทยานแห่งชาติอวี้ซัน บนความสูง 2,862 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงที่มีเส้นผ่านศูนย์ขนาดใหญ่ที่สุดของไต้หวัน (1 เมตร) นอกจากเป็นสถานที่สำคัญในการวิจัยและสำรวจทางดาราศาสตร์ของไต้หวันแล้ว ยังมีส่วนร่วมในโครงการดาราศาสตร์นานาชาติต่างๆ อีกมากมาย

ทีมงานขับรถจากไทเปใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง หลังนำอุปกรณ์ลงจากรถแล้ว ยังต้องเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 600 เมตร จึงจะไปถึงสถานีดาราศาสตร์ลู่หลินซึ่งเป็นอาคารสีขาว ถือเป็นสถานีดาราศาสตร์เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ไม่สามารถเดินทางไปถึงด้วยยานพาหนะ

 

แต่ละวันที่ดูดาว

ผู้ที่เดินกับเราไปตลอดทางนี้คือคุณหลินหงชิน (林宏欽) ผอ.สถานีดาราศาสตร์ เขาคุ้นเคยกับเส้นทางเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่ทำงานของเขาแล้ว ย้อนไปเมื่อปีค.ศ.1990 ซึ่งในขณะนั้นเขายังเป็นนักศึกษาปริญญาโท หลินหงชินกับ ศ.ไช่เหวินเสียง (蔡文祥) อาจารย์ที่ปรึกษา ได้มีส่วนร่วมในการเลือกที่ตั้งของสถานีดาราศาสตร์อีกด้วย “ภาคเหนือของไต้หวันได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือได้ง่าย ส่วนภาคใต้ก็มีกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้นภาคกลางของไต้หวันจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ โดยปกติแล้ว สถานีดาราศาสตร์มักสร้างอยู่บนภูเขาสูงเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนจากชั้นเมฆที่ลอยอยู่ในระดับ 1,000-2,000 เมตร”

ชีวิตในสถานีดาราศาสตร์นั้นค่อนข้างเรียบง่ายและมีระเบียบ นอกจากผอ.หลินหงชินแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่หอดูดาวอีก 2 คน คือ คุณหลินฉี่เซิง (林啟生) และคุณเซียวเสียงเย่า (蕭翔耀) รวมถึงผู้ช่วยที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองอีก 4 คน ทำหน้าที่ดูแลการทำงานของสถานีดาราศาสตร์ เพื่อรับประกันได้ว่าตลอด 365 วันใน 1 ปี หากสภาพอากาศดี ก็จะสามารถดูดาวได้อย่างแน่นอน

เวลาถือเป็นสิ่งล้ำค่าอย่างยิ่งสำหรับการดูดาวในตอนกลางคืน ทางหอดูดาวจึงได้เปิดให้ผู้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์จากทั้งในและต่างประเทศสามารถเสนอแผนงานในการทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อขอใช้กล้องโทรทรรศน์ได้ หลังจากผ่านการอนุมัติก็จะได้รับการจัดสรรช่วงเวลาให้ใช้งาน แต่เนื่องจากสภาพอากาศเป็นสิ่งที่ฟ้ากำหนด จึงมีบางครั้งที่แม้จะเป็นวันที่จัดตารางเวลาใช้งานไว้แล้ว หากแต่สภาพอากาศกลับไม่เป็นใจ ทำให้ไม่สามารถดูดาวได้ พวกเราจึงมักจะพูดเล่นกันว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความกรุณาของลมฟ้าอากาศจริงๆ

หลินหงชินอธิบายว่า ภาพรวมด้านสถานที่สำหรับการสำรวจทางดาราศาสตร์ของไต้หวันจัดว่าไม่เลวเลยทีเดียว โดยเฉลี่ยใน 1 ปีจะมีจำนวนวันที่สามารถดูดาวได้มากถึงครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ สถานีดาราศาสตร์ยังตั้งอยู่บนตำแหน่งละติจูดต่ำ ทำให้ขอบเขตที่สามารถมองเห็นได้นั้นครอบคลุมท้องฟ้าส่วนใหญ่ของซีกโลกใต้ ถือเป็นข้อดีที่ได้เปรียบกว่าประเทศที่ตั้งอยู่บนตำแหน่งละติจูดสูง อีกทั้งสถานีดาราศาสตร์ลู่หลินยังเป็นสถานีสำรวจทางดาราศาสตร์ที่ตั้งอยู่ตำแหน่งแรกทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก หากสถานีดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ในฮาวาย สหรัฐอเมริกา ค้นพบเป้าหมายที่มีลักษณะพิเศษใดๆ สถานีดาราศาสตร์ลู่หลินจะสามารถทำการยืนยันและสังเกตการณ์ได้ในทันที

 

การเริ่มต้นภารกิจดูดาว

การพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของไต้หวันในยุคแรกนั้น ต้องย้อนไปยังยุคสมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น แต่การที่สามารถพัฒนามาจนถึงการสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงยาง ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณภูเขาลู่หลินส่วนหน้า นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในวงการดาราศาสตร์ของไต้หวัน และยังเป็นการสร้างโอกาสอีกมากมายในการเข้าร่วมโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ เช่น โครงการความร่วมมือสำรวจการเคลื่อนที่บดบังของดาว (Taiwan-America Occultation Survey : TAOS), โครงการแพนสตาร์ส (ร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย และกองทัพอากาศสหรัฐ), โครงการสำรวจซูเปอร์โนวาไต้หวัน (Taiwan Supernovae Survey) และเครือข่ายสำรวจติดตามการระเบิดของรังสีแกมมาเอเชียตะวันออก (East Asian Gamma Ray Burst Follow-up Network : EAFoN)

ในช่วงหลายปีมานี้ หนึ่งในจุดสนใจของการวิจัยทางดาราศาสตร์ คือการสำรวจและค้นพบดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่โคจรกระจัดกระจายอยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวอังคาร หลินหงชินอุปมาว่า ดาวเคราะห์น้อยคือเศษซากชิ้นส่วนที่เหลือจากกระบวนการก่อกำเนิดของระบบสุริยะ คล้ายกับหลังจากทำขนมปังเสร็จ ก็จะเหลือเศษผงแป้งสาลีกระจายอยู่เต็มไปหมด ในปีค.ศ.1994 เหตุการณ์ดาวหางพุ่งชนดาวพฤหัสบดี ถือเป็นเครื่องย้ำเตือนให้นักดาราศาสตร์ตระหนักว่า กรณีวัตถุท้องฟ้าพุ่งชนโลก เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา สถานีดาราศาสตร์ลู่หลินเข้าร่วมการค้นหาดาวเคราะห์น้อยบนท้องฟ้า ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยแล้วจำนวนกว่า 800 ดวง ท่ามกลางหมู่ดาวบนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลมีดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากที่ได้รับการตั้งชื่อเกี่ยวข้องกับไต้หวัน เช่น เฉินซู่จวี๋ (Chen shu chu ดาวเคราะห์น้อยหมายเลข 278986), อู๋ต้าโหยว (Wu da you หมายเลข 256892), เติ้งอวี่เสียน (Deng yu shian หมายเลข 255989), เจียอี้ (Chia yi หมายเลข 147918), โจวจู๋ (Tsou หมายเลข 175586) และเหอฮวนซัน (Hehuanshan หมายเลข 207661)

นอกเหนือจากการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยแล้ว ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การค้นหาดาวเคราะห์น้อยก็เพื่อที่จะได้เตรียมมาตรการป้องกันล่วงหน้าก่อนที่โลกจะถูกวัตถุท้องฟ้าพุ่งชน ภารกิจในอนาคตคือการเจาะลึกเรื่องของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยเมตร ถึงแม้ว่าขนาดของมันจะไม่ได้ส่งผลกระทบถึงขั้นก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของมวลมนุษยชาติ แต่ก็สามารถทำลายล้างเมืองได้ บรรดานักวิทยาศาสตร์จึงกำลังช่วยกันระดมความคิดและแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เซียวเสียงเย่าพูดอย่างติดตลกว่า “ด้วยเหตุนี้ คุณจะเรียกพวกเราว่า “กองกำลังพิทักษ์โลก” ก็ได้”
 

วัตถุท้องฟ้าห่างไกลจากเราหลายหมื่นปีแสง ยากแก่การมองเห็นด้วยตาเปล่า ภาพถ่ายดวงดาวอันงดงามที่เราเห็นทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการถ่ายภาพแบบควบคุมเวลาฉายแสง (Exposure time) อย่างยาวนาน จากภาพคือวัตถุท้องฟ้าของเมซีเย หมายเลข M20 Trifid Nebula (ขวา) และหมายเลข M8 Lagoon Nebula (ซ้าย)

วัตถุท้องฟ้าห่างไกลจากเราหลายหมื่นปีแสง ยากแก่การมองเห็นด้วยตาเปล่า ภาพถ่ายดวงดาวอันงดงามที่เราเห็นทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการถ่ายภาพแบบควบคุมเวลาฉายแสง (Exposure time) อย่างยาวนาน จากภาพคือวัตถุท้องฟ้าของเมซีเย หมายเลข M20 Trifid Nebula (ขวา) และหมายเลข M8 Lagoon Nebula (ซ้าย)
 

ความเชื่อมโยงระหว่างคนกับดวงดาว

ยังมีนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นอีกกลุ่มหนึ่งที่ค้นหาดวงดาวบนท้องฟ้าเดียวกันนี้ และหลงใหลในความกว้างใหญ่ไพศาลระหว่างหมู่ดาวในห้วงอวกาศ

หลิวจื้ออัน (劉志安) เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนี้ และยังดำรงตำแหน่งประธานสมาคมนักดาราศาสตร์สมัครเล่นกรุงไทเปอีกด้วย เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นแอดมินของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “พันธมิตรพิทักษ์หมู่ดาวบนท้องฟ้าไต้หวัน” (台灣星空守護聯盟) เขาชื่นชอบการดูดาวมาตั้งแต่เด็ก รู้จักหมู่ดาวบนท้องฟ้าโดยศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากห้องสมุด เพียงเพื่อที่จะได้ดูดาว เขาจึงสมัครเข้าทำงานที่บริษัทด้านออปติกส์ ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ออปติกส์ จากประสบการณ์ในการดูดาวมายาว
นานกว่า 30 ปี เขาจึงกลายเป็นนักดูดาวคนที่ 2 ของเอเชีย ที่เคยผ่านการแข่งขัน “เมซีเยมาราธอน” เพื่อค้นหาวัตถุท้องฟ้าจำนวน 110 ดวง เพื่อนร่วมงานจึงให้ฉายาเขาว่า “มนุษย์ GOTO” (GOTO เป็นชื่อประเภทของกล้องโทรทรรศน์ที่มีระบบนำทางแบบอัตโนมัติ) แผนที่หมู่ดาวต่างๆ อยู่ในมันสมองของเขา “แค่เพียงดวงดาวปรากฏขึ้น ผมก็จะหามันเจอ” หลิวจื้ออันกล่าว

“มนุษย์เรามีความหลงใหลในดวงดาวมาตั้งแต่เกิด” หลิวจื้ออันกล่าว ทีมงานมองดูเขาจัดการตั้งกล้องโทรทรรศน์เองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ใดๆ ช่วย แค่หันกล้องไปก็จะพบกับกระจุกดาวทรงกลมหรือไม่ก็กระจุกดาวเปิด เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ เราจะเห็นดวงดาวที่อยู่ห่างออกไปไกลนับหมื่นปีแสง และยังสามารถมองเห็นหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ แถบสีน้ำตาลแดงของดาวพฤหัสบดี และวงแหวนของดาวเสาร์ ช่างเป็นประสบการณ์อันน่าทึ่งเสียจริง

 

พันธมิตรพิทักษ์หมู่ดาวบนท้องฟ้า

หมู่ดาวบนท้องฟ้ากลายมาเป็นแผนที่ที่ขาดไปไม่ได้ในชีวิตของหลิวจื้ออัน แต่จากการดูดาว กลับกลายมาเป็นการต่อต้านมลภาวะทางแสงไปโดยบังเอิญ และนี่ก็ถือเป็นอีกเส้นทางหนึ่งบนแผนที่เช่นกัน

ปี 2013 เทศบาลเมืองหนานโถวได้ทำการติดตั้งป้ายอนุสรณ์ประดับหลอดไฟ LED บนยอดเขายวนฟงบนภูเขาเหอฮวนซัน แต่กลับทำให้กลุ่มนักดูดาวต้องรวมตัวกันเพื่อช่วยกอบกู้วิกฤตที่มีต่อสภาพแวดล้อมในการดูดาวซึ่งกำลังถูกคุกคาม

หลิวจื้ออันได้ยกตัวอย่างของทะเลสาบเทคาโป (Lake Tekapo) ตำบลเล็กๆ ในนิวซีแลนด์ ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เพียง 300-400 คน ด้วยมาตรการควบคุมมลภาวะทางแสง จึงได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์หมู่ดาวบนท้องฟ้าแห่งแรกของโลก หลังผ่านการรับรองแล้ว นักดูดาวทั่วโลกต่างก็เดินทางมาที่ทะเลสาบเทคาโป ถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ให้กับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

แรงบันดาลใจที่ได้จากแนวคิดของทะเลสาบเทคาโป ทำให้หลิวจื้ออันและผองเพื่อนเริ่มต้นจากการเจาะลึกเข้าไปในด้านการท่องเที่ยว โดยเดินทางไปพูดคุยกับโรงแรมรีสอร์ทต่างๆ ในพื้นที่ชิงจิ้ง ของตำบลเหรินอ้าย เมืองหนานโถว เพื่อเสนอแนวคิดในการควบคุมมลภาวะทางแสง โดยรวบรวมอาสาสมัครจากกลุ่มคนรักการดูดาวให้เดินทางขึ้นเขาร่วมกัน และจัดการฝึกอบรมให้ความรู้ในการเป็นไกด์นำชมหมู่ดาวบนท้องฟ้า พร้อมหวังว่าองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์จะสามารถพัฒนาต่อไปได้เองในท้องถิ่น

หลิวจื้ออันพาทีมงานเดินทางไปเยือนรีสอร์ท 2 แห่งในพื้นที่ชิงจิ้ง คือ Florence Resort Villa (佛羅倫斯山莊) และ Starry House (觀星園) ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ใช้อุปกรณ์ส่องสว่างที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี แต่ละแห่งมีแนวคิดที่ชาญฉลาดในการลดมลภาวะทางแสงด้วยกันทั้งคู่ เช่น ติดแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์เพิ่มในโคมไฟ เพื่อลดจำนวนวัตต์ของโคมไฟลง, เปลี่ยนมาใช้โคมไฟที่เป็นกระจกฝ้าแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้แสงไฟที่มากเกินไปจนกลายเป็นมลภาวะทางแสง โดยผู้ประกอบการในพื้นที่ชิงจิ้งจะปิดอุปกรณ์ที่มีแสงไฟขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแจ้งหลังเวลาสามทุ่ม เพื่อมอบเวทียามค่ำคืนให้แก่หมู่ดาวบนท้องฟ้า

ความเห็นส่วนใหญ่ของผู้คนในสังคมมักมองว่า ที่ที่มีแสงไฟ เป็นที่ที่ปลอดภัย แต่หลิวจื้ออันแย้งว่า แสงไฟที่สว่างจ้าเกินไป กลับทำให้แสงบาดตาหรือเกิดจุดบอดได้ง่าย พวกเขาอยากปิดไฟทั้งหมดลงด้วยซ้ำไป ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงคือ “การใช้แสงสว่างอย่างเหมาะสม”

เมื่อทางการมองเห็นถึงความมุ่งมั่นของนักดูดาวกลุ่มนี้ จึงเข้ามามีส่วนร่วมโดยออกกฎระเบียบธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องข้อตกลงในการใช้แสงสว่างกลางแจ้ง ก่อนที่ในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 เทศบาลเมืองหนานโถว จะร่วมกับสมาคมการท่องเที่ยวชิงจิ้ง และองค์กรด้านดาราศาสตร์ ยื่นขอจดทะเบียนรับรอง “อุทยานท้องฟ้ามืดสากล เหอฮวนซัน” ต่อสมาคมอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล (International Dark Sky Association : IDA)

และในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ก็ได้รับการอนุมัติรับรองอย่างเป็นทางการ ถือเป็นอุทยานท้องฟ้ามืดสากลแห่งที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากเขตอนุรักษ์หิ่งห้อยยองยางของเกาหลีใต้ และอุทยานแห่งชาติอิริโอะโมะเตะ-อิชิกากิของญี่ปุ่น

แหงนมองดูดาวพร่างพราวเต็มท้องฟ้า อยู่ห่างจากเราไกลโพ้นหลายปีแสง ท่ามกลางแสงเงาที่งดงาม บังเกิดเป็นตำนานอันวิไลแห่งอารยธรรมมนุษย์ ความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ ได้เปิดวิถีสู่จักรวาลของเรา เมื่อย่างก้าวสู่เส้นทางการดูดาว เราจะพบว่า ระยะทางระหว่างเรากับหมู่ดาวบนท้องฟ้า ไม่ได้ไกลอย่างที่คิดกันเลย