ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันและสถาบันอเมริกาในไต้หวัน ร่วมประกาศ “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G”
2020-08-27
New Southbound Policy。นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวปราศรัยในพิธีประกาศ “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G” (ภาพจาก MOFA)
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวปราศรัยในพิธีประกาศ “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G” (ภาพจาก MOFA)

MOFA วันที่ 26 ส.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) ได้ร่วมประกาศ “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G” (Joint Declaration on 5G Security) โดยทั้งสองฝ่ายต่างให้คำมั่นว่าจะดำเนินการประยุกต์ใช้สัญญาณระบบ 5G เพื่อให้บริการด้านต่างๆ ภายใต้พื้นฐานของเสรีภาพ การแข่งขันกันอย่างยุติธรรม โปร่งใส และหลักนิติธรรม ขณะเดียวกัน ก็จะร่วมสอดส่องไม่ให้เกิดการบ่อนทำลายหรือถูกแทรกแซงในสัญญาณระบบ 5G ทั้งนี เพื่อสร้างหลักประกันด้านการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว เสรีภาพส่วนบุคคล และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป


 

รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า “ความปลอดภัยทางไซเบอร์นับว่าเป็นความมั่นคงปลอดภัยของชาติ” โดยไต้หวันถือได้ว่าเป็นประเทศแนวหน้าที่ประสบความสำเร็จในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อพิจารณาถึงความปลอดภัยในการติดตั้งระบบ 5G ทั่วประเทศ รัฐบาลไต้หวันได้ดำเนินการมาตรการป้องกันล่วงหน้า โดยได้กำจัดซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และการให้บริการที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นช่องโหว่ในอนาคต จึงอาจกล่าวได้ว่า ไต้หวันเป็นผู้บุกเบิกและต้นแบบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับหลายประเทศในประชาคมโลก การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการขานรับแผนการ Prague Proposals ที่บัญญัติกฎระเบียบด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G ไว้อย่างชัดเจนแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า มาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G ของไต้หวันสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะร่วมสู้ไปพร้อมกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ตลอดจนยึดมั่นในแถลงการณ์ของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ระบุว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมจัดตั้งระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและห่วงโซ่อุตสาหกรรม ที่สามารถปกป้องประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้เป็นที่เชื่อถือในประชาคมโลก


 

เนื่องด้วยไต้หวันและสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ร่วมแบ่งปันค่านิยมสากลระหว่างกัน ประกอบด้วย ประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ตลอดระยะที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่สหรัฐฯ ให้การยอมรับต่อมาตรการความปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G ของไต้หวันในครั้งนี้ พร้อมจัดให้ผู้ประกอบการสัญญาณเครือข่าย 5G ของไต้หวัน เข้าเป็นส่วนหนึ่งในบัญชีรายชื่อในโครงการ 5G Clean Path ตลอดจนร่วมกับรัฐบาลไต้หวันประกาศ “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G” ต่างเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความปลอดภัยทางเทคโนโลยี 5G ของไต้หวันสอดคล้องกันมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยในอนาคต ไต้หวัน – สหรัฐฯ จะร่วมผลักดันความร่วมมือด้านความปลอดภัย 5G ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) เพื่อร่วมพัฒนามาตรฐาน แนวทาง และการนำไปใช้ในทางที่เหมาะสมต่อไป