ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ก.มหาดไทยสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ จับมือกับภาคเอกชนร่วมต่อต้านการบังคับใช้แรงงาน
2020-09-03
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 1 ก.ย. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจัดพิธีเปิด “การประชุมเชิงปฏบัติการนานาชาติว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ ปี 2020” (ภาพจาก CNA)
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจัดพิธีเปิด “การประชุมเชิงปฏบัติการนานาชาติว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ ปี 2020” (ภาพจาก CNA)

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันที่ 1 ก.ย. 63

 

การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่กระทรวงมหาดไทย (Ministry of the Interior, MOI) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ได้เปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. โดยในการประชุมครั้งนี้มีนายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวัน นายเฉินจงเยี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) และตัวแทนสายการบินไทเกอร์แอร์ รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศหลายรายเข้าร่วม เพื่อให้คำสัตย์ปฏิญาณและประสานความร่วมมือในการต่อต้านการบังคับใช้แรงงาน


 

นายเฉินฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ ไต้หวันทำผลงานในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ยอดเยี่ยม โดยสามารถรักษาระดับเทียร์ 1 ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 11 และได้รับการจัดอันดับจาก "รายงานดัชนีความมั่นคงแห่งชาติทั่วโลก" ให้เป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศที่มีดัชนีความปลอดภัยสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยไต้หวันคาดหวังที่จะแบ่งปันประสบการณ์ผ่านการแลกเปลี่ยนในการประชุมฯ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับประชาคมโลกในการต่อต้านการค้ามนุษย์ระดับนานาชาติต่อไป


 

MOI แถลงว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ไต้หวันต้องเผชิญ ส่วนมากจะเป็นการขูดรีดแรงงานและการกดขี่ทางเพศ ในปี 2019 จำนวนชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อและได้รับการช่วยเหลือในการจัดหาที่พักพิงลดเหลือเพียง 92 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดหลังการบังคับใช้ “กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ในปีนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) การค้ามนุษย์ระหว่างประเทศจึงลดจำนวนลงตามลำดับ แต่ทุกหน่วยงานของไต้หวันยังคงไม่ละเลยในภารกิจการป้องกันและปราบปรามฯ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงริเริ่มจัดทำ “แผนปฏิบัติการต่อต้านการกดขี่และขูดรีดแรงงาน ปี 2021 – 2022” โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นใหม่ที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังสถานการณ์โควิด – 19 ทั้งนี้ เพื่อให้ภารกิจต่อต้านการค้ามนุษย์มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น


 

MOI ชี้แจงว่า แรงงานต่างชาติในไต้หวันมีจำนวนสูงถึง 700,000 กว่าคน โดยมีบางส่วนที่เป็นบุคคลด้อยโอกาส ไม่คุ้นชินกับภาษาที่ใช้ในไต้หวัน ทำให้ไม่สามารถร้องทุกข์ได้อย่างที่ใจต้องการในขณะที่ถูกกระทำ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไต้หวันจึงเร่งผลักดันการใช้ภาษามือ เพื่อ “ขอความช่วยเหลือ” และเป็นครั้งแรกที่จัดให้มีล่ามแปลภาษาสาธิตการใช้ภาษามือ ในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ อีกทั้งยังจัดรวบรวมข้อมูลการใช้ภาษามือเพื่อขอความช่วยเหลือเป็นภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย ภาษาจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีโอกาสขอรับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที


 

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แถลงว่า ประเด็นหารือของการประชุมเชิงปฏิบัติการในปีนี้ ประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก ดังนี้ “ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” “ความปลอดภัยของผู้ถูกกระทำและเสียงเรียกร้องจากใจของพวกเขา” “บทบาทใหม่ที่ร่วมต่อต้านการขูดรีดแรงงาน – ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (CSR)” และ “ความท้าทายและการเอาชนะอุปสรรคด้านการป้องกันโรคระบาดของประเทศที่สำคัญๆ” สืบเนื่องจากในปีนี้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐของต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในไต้หวันได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติที่ประจำในไต้หวัน เจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ และประชาชนที่ให้ความสนใจในประเด็นการค้ามนุษย์ ต่างก็ให้ความสนใจเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก ผู้บรรยายชาวต่างชาติบางส่วนก็เข้าร่วมผ่านการบันทึกคลิปวิดีโอล่วงหน้าและผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์


 

ทั้งนี้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้บรรยายชาวต่างชาติ 3 คนที่อัดคลิปวิดีโอไว้ล่วงหน้าเพื่อนำมาเปิดฉายในการประชุมฯ ประกอบด้วย นางเหอเพ่ยจือ นักกฎหมายชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นนักวิจัยในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ของฮ่องกงในเชิงลึก และได้รับ “รางวัลนักต่อสู้ด้านการค้ามนุษย์ ปี 2020” (Hero Acting to End Modern Award 2020) จากกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา Mr. Luke de Pulford ผู้บรรยายชาวอังกฤษและเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิ Arise ได้ร่วมบรรยายแนวคิดใหม่ว่าด้วย “การเข้าร่วมในกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม” ให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบโดยทั่วกัน รวมถึง ดร. มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย ที่ได้ร่วมชี้แจงในประเด็นสถานการณ์การค้ามนุษย์ในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยและประเทศอาเซียน”