ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“คณะผู้แทนการค้าออนไลน์กรุงไทเป 2020” เปิดเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อกว่า 170 รายจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในเดือนสิงหาคม
2020-09-04
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรม กรุงไทเป ได้จัดกิจกรรมรวบรวม “คณะผู้แทนการค้าออนไลน์กรุงไทเป 2020” ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไทเป (ภาพจากเทศบาลกรุงไทเป)
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรม กรุงไทเป ได้จัดกิจกรรมรวบรวม “คณะผู้แทนการค้าออนไลน์กรุงไทเป 2020” ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไทเป (ภาพจากเทศบาลกรุงไทเป)

กรุงไทเป วันที่ 28 ส.ค. 63

 

เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในกรุงไทเป สามารถขยายตลาดต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ยังคงลุกลามไปทั่วโลก สำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรม กรุงไทเปจึงได้จัด “คณะผู้แทนการค้าออนไลน์กรุงไทเป 2020” ขึ้น ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไทเป (TICC) เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา อันเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 63 ที่ได้มีการจัดเจรจาจับคู่ทางธุรกิจและการจัดซื้อ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับผู้ซื้อจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวม 121 ราย ซึ่งกิจกรรมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางกรุงไทเปได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกรุงไทเปรวม 34 ราย ให้มีโอกาสได้ติดต่อเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวม 170 บริษัท โดยกิจกรรมทั้งสองรอบในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สามารถสร้างโอกาสทางการค้าได้มากถึง 47,968,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งผู้ซื้อที่เข้าร่วมการเจรจาในครั้งนี้ เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ เครื่องจักรอัจฉริยะ และเวชภัณฑ์สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น


 

โดยสถานีที่ 2 ของคณะผู้แทนการค้าฯ คือไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่เป็นฐานสำคัญของภาคการผลิตและเป็นตลาดที่มีการบริโภคภายในประเทศสูง ซึ่งความยอดเยี่ยมของเหล่านักธุรกิจไต้หวันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต สามารถดึงดูดผู้ประกอบการจากทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ ส่วนผู้ซื้อทางฝั่งไทยได้มีการเชิญผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกชั้นนำเข้าร่วมเป็นจำนวน 3 ราย ซึ่งรวมถึง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ซากุระโปรดัคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกลก็ได้มีโอกาสเจรจากับบริษัท ดี.เอช.เอ. สยามวาลา จำกัด โดยผู้ซื้อของประเทศเป้าหมายในกลุ่มนี้ ต่างมาจากแวดวงในหลากหลายสาขา ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัย และด้านอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น


 

โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมที่สุดในกิจกรรมครั้งนี้คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งสินค้าที่ผู้ซื้อขอนัดเจรจามากที่สุดคือ สินค้าระบบกล้องวงจรปิดและระบบกันขโมย อาทิ กล้องตาแมวอัจฉริยะ ระบบที่จอดรถอัจฉริยะ และระบบสัญญาณเตือนภัย เป็นต้น รองลงมาคือสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กขนาดพกพา (Ultra-Mobile PC, UMPC) เครื่องสแกน และหุ่นยนต์ระบบคลาวด์อัจฉริยะ (Cloud AI Robotics)


 

ในวันที่ 15 ก.ย. ที่จะถึงนี้ จะเป็นสถานีสุดท้ายของคณะผู้แทนการค้าฯ ที่จะเชื่อมโยงผ่านระบบคลาวด์ไปสู่ตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการไต้หวันสมัครเข้าร่วมทั้งหมด 39 รายแล้ว