สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า แม้ว่าตลาดโลกจะยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยแห่งความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่ไต้หวันมองเห็นคือความเจริญรุ่งเรืองและโอกาสในการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระดับโลก
♦ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไต้หวันได้เร่งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่สมบูรณ์พร้อม รวมไปถึงสภาพแวดล้อมเชิงพาณิชย์ที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรมและสามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งในปัจจุบันได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงบวกมากมาย
♦ มูลค่าการลงทุนของ EU ในไต้หวันครองสัดส่วนมูลค่าการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติในไต้หวันกว่าร้อยละ 25 นับเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน
♦ เมื่อมองไปที่ปัญหาของการคงอยู่ร่วมกันระหว่างห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศและการค้า นี่กลับเป็นเปิดช่องทางโอกาสแห่งความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับผู้ประกอบการไต้หวันและ EU
♦ การประชุมในครั้งนี้ยังมุ่งเน้นไปที่หัวข้อหลัก 3 ประการ ดังนี้ “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” “รถยนต์ไร้คนขับ” และ “เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ”
-------------------------------------------
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 22 ก.ย. 63
“การประชุมสัมมนาว่าด้วยการลงทุนในสหภาพยุโรป” (EU Investment Forum) ที่ร่วมจัดขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรปประจำไต้หวัน (European Economic and Trade Office, EETO) กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติไทเป(TICC) เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมี Mr. Filip Grzegorzewski ผู้อำนวยการ EETO เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ นอกจากนี้ นางหวังเหม่ยฮวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต่างได้เข้าร่วมกล่าวปราศรัยในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้ดึงดูดผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 500 คน อีกทั้งยังมีตัวแทนบริษัทเอกชนของไต้หวันเข้าร่วมด้วย อาทิ บริษัท Delta Electronics, Inc. บริษัท Everlight Electronics Co.,Ltd. เป็นต้น
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า แม้ว่าตลาดโลกจะยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยแห่งความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่ไต้หวันมองเห็นคือความเจริญรุ่งเรืองและโอกาสในการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระดับโลก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไต้หวันได้เร่งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่สมบูรณ์พร้อม รวมไปถึงสภาพแวดล้อมเชิงพาณิชย์ที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรมและสามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งในปัจจุบันได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงบวก เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุนของ EU ในไต้หวันครองสัดส่วนมูลค่าการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติในไต้หวันกว่าร้อยละ 25 นับเป็นแหล่งที่มาของการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เชื่อมั่นว่า ภายใต้บริบทค่านิยมสากลที่มีร่วมกันในด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม ไต้หวัน – EU จะสามารถร่วมเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าให้เกิดความแนบแน่นมากยิ่งขึ้นในภายภาคหน้า
Mr. Filip กล่าวชี้แจงว่า ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกคือการบังเกิดโอกาสใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงจุดเปราะบางของนานาประเทศทั่วโลก เมื่อมองไปที่ปัญหาของการคงอยู่ร่วมกันระหว่างห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศและการค้า นี่กลับเป็นเปิดช่องทางโอกาสแห่งความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับผู้ประกอบการไต้หวันและ EU โดย EU นอกจากจะเป็นตลาดเดียวแห่งยุโรปที่มีผู้บริโภคนับ 450 ล้านคนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ทุนทรัพย์ สินค้าอุปโภคบริโภค และการบริการ ต่างก็สามารถหมุนเวียนในประเทศสมาชิก EU ได้อย่างเสรี อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไต้หวันเข้าร่วมลงทุน จับมือประสานความเชื่อมโยงกับประชาคมโลกต่อไป
นางหวังฯ รมว. เศรษฐการกล่าวว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้มีความหมายในเชิงรูปธรรมมากเป็นพิเศษ ก่อนอื่นนางหวังฯ ได้ชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไต้หวัน – EU ได้ประสานความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ในแง่ของการลงทุน สัดส่วนของผู้ประกอบการไต้หวันที่เดินทางไปร่วมลงทุนใน EU ยังมีพื้นที่ให้พัฒนาอยู่มาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการไต้หวัน – EU ยัง สามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อนึ่ง ไต้หวันและ EU สามารถก้าวสู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน โดยทาง ก.เศรษฐการมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการลงทุน เศรษฐกิจ และการค้าแบบทวิภาคในเชิงลึกระหว่างไต้หวัน – EU ต่อไป
การประชุมสัมมนาในครั้งนี้เป็นการประชุมประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นครั้งแรกที่ EU จัดขึ้นที่ไต้หวันร่วมกับ 15 ประเทศสมาชิก EU โดยตารางการประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะมีการแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษต่างๆ แล้ว การประชุมในครั้งนี้ยังมุ่งเน้นไปที่หัวข้อหลัก 3 ประการ ดังนี้ “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” “รถยนต์ไร้คนขับ” และ “เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสุขภาพ” อีกทั้งยังได้เชิญผู้ประกอบการไต้หวันและ EU รวมถึงตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐร่วมแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน EU และประเทศสมาชิก ประกอบด้วย สภาพแวดล้อมการลงทุน นโยบายด้านกฎหมาย มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ สถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และศักยภาพทางการตลาด เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสาขาต่างๆ ของ EU ผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดโอกาสทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป