ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันครองอันดับที่ 11 ของโลกจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD ปี 2020
2020-10-05
New Southbound Policy。“จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่” ของไต้หวัน ครองอันดับที่ 1 จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD ปี 2020 (ภาพจากบริษัทจงหัวเทเลคอม)
“จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่” ของไต้หวัน ครองอันดับที่ 1 จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD ปี 2020 (ภาพจากบริษัทจงหัวเทเลคอม)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD ปี 2020 ชี้ว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

♦ การจัดอันดับในครั้งนี้ ไต้หวันมีดัชนีย่อย 7 รายการที่ติด 3 อันดับแรกของโลก ในจำนวนนี้ “ความคล่องตัวทางธุรกิจ” “จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่” และ “การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมวลชนที่มีสัดส่วนใน GDP” ครองอันดับที่ 1 ของโลก

♦ รัฐบาลไต้หวันจะอ้างอิงรายงานผลการจัดอันดับของ IMD ในการประเมินและวิเคราะห์หาจุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศในด้านการพัฒนาทางระบบดิจิทัล เพื่อประกอบการพิจารณาวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศต่อไป
-------------------------------------------

NDC วันที่ 1 ต.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. แถลงว่า สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ IMD ปี 2020 (IMD World Digital Competitiveness Ranking 2020, DCR) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ผลการจัดอันดับในปีนี้ระบุว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ดีขึ้น 2 อันดับจากปี 2019 และเป็นอันดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา อีกทั้งยังอยู่ในอันดับที่ 3 จาก 29 เขตเศรษฐกิจที่มีประชากรในประเทศมากกว่า 20 ล้านคนขึ้นไป ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2019 และอยู่ในอันดับที่ 11 จาก 34 เขตเศรษฐกิจที่มี GDP ต่อหัวมากกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2019

 

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) ชี้ว่า การจัดอันดับในครั้งนี้ ไต้หวันมีดัชนีย่อย 7 รายการที่ติด 3 อันดับแรกของโลก ในจำนวนนี้ “ความคล่องตัวทางธุรกิจ” “จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่” และ “การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมวลชนที่มีสัดส่วนใน GDP” ครองอันดับที่ 1 ของโลก โดยสถาบัน IMD ได้ใช้เกณฑ์การพิจารณาทั้งหมด 3 หมวด ที่ประกอบด้วยดัชนีชี้วัด 9 ประการหลัก 51 รายการย่อย ในการประเมินศักยภาพและความพร้อมในการปรับตัว การแสวงหา และการประยุกต์ใช้ “การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล” อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเกณฑ์การพิจารณาทั้งหมด 3 ประการหลักนั้น ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) เทคโนโลยี (Technology) และความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness)

 

โดยความก้าวหน้าในผลการจัดอันดับของไต้หวัน สามารถเห็นได้จาก :

 

(1) หมวด “ความรู้” มุ่งเน้นในการประเมินความสามารถด้านการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของประเทศ ซึ่งไต้หวันครองอันดับที่ 18 ของโลก แม้ว่าจะถอยหลังจากปีที่แล้ว 1 อันดับ แต่ดัชนีชี้วัดที่ประกอบด้วย “บุคลากร” และ “การฝึกอบรมและการศึกษา” ต่างมีอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนดัชนีรายการย่อยหลายประการต่างก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน อาทิ “จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ” ครองอันดับที่ 2 มาติดต่อกันสองปีซ้อน “การประสบความสำเร็จในการศึกษาระดับอุดมศึกษา” ขยับขึ้นมาครองอันดับที่ 3 และ “รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาของอัตราส่วนรายจ่ายทั้งหมด” ขยับขึ้นมาครองอันดับที่ 4

 

(2) หมวด “เทคโนโลยี” มุ่งเน้นในการประเมินความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ซึ่งไต้หวันครองอันดับที่ 5 ของโลก ขยับขึ้น 4 อันดับจากปี 2019 ในจำนวนนี้ “การลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมวลชนที่มีสัดส่วนใน GDP” และ “จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่” ต่างครองอันดับที่ 1 ของโลก ส่วน “ความเร็วของอินเทอร์เน็ต” ครองอันดับที่ 5 ของโลก ขยับสูงขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 13 อันดับ

 

(3) หมวด “ความพร้อมสำหรับอนาคต” มุ่งเน้นในการประเมินระดับของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งไต้หวันครองอันดับที่ 8 ของโลก ขยับขึ้น 4 อันดับจากปี 2019 ในแง่ของการบริหารงานของภาคเอกชน “ความคล่องตัวทางธุรกิจ” ครองอันดับที่ 1 ของโลก “ความรวดเร็วในการตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจและความเสี่ยงขององค์กร” ครองอันดับที่ 2 ของโลก นอกจากนี้ “การประยุกต์ใช้และวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าทางธุรกิจ” ไต้หวันครองอันดับที่ 5 ของโลก ขยับสูงขึ้นจากปีที่แล้ว 9 อันดับ แสดงให้เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของรัฐบาล ได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดขึ้นแล้ว ในแง่ของการให้บริการด้านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ “อัตราการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน” ขยับขึ้นมาครองอันดับที่ 2 ของโลก “ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต” ครองอันดับที่ 8 ไต่อันดับดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4 อันดับ

 

ทั้งนี้ NDC แถลงว่า รัฐบาลไต้หวันจะอ้างอิงรายงานผลการจัดอันดับของ IMD ในการประเมินและวิเคราะห์หาจุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศในด้านการพัฒนาทางระบบดิจิทัล เพื่อประกอบการพิจารณาวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศต่อไป โดยในอนาคต NDC จะเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของประเทศต่อไป โดยประยุกต์ใช้แนวคิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ในการยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างพลังดิจิทัลอันไร้ขีดจำกัดให้กับไต้หวันต่อไป