สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ การประชุมสัมมนา Yushan Forum ครั้งที่ 4 มีนักการเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำทางความคิดจากประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวม 10 กว่าประเทศ เข้าร่วมเจรจาเพื่อแสวงหากลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานในการบรรลุอุดมการณ์ด้านการรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคให้คงอยู่สืบต่อไป
♦ “รูปแบบไต้หวัน” นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จของระบบรัฐบาลที่เปี่ยมด้วยความเป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และแข็งแกร่งแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติด้านความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของประชาชนชาวไต้หวัน รวมถึงค่านิยมว่าด้วย “ไต้หวันช่วยเหลือเอเชีย เอเชียช่วยเหลือไต้หวัน”
♦ ในระหว่างการประชุมสัมมนา ยังได้มีการจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ขึ้นควบคู่กัน 2 รอบภายใต้ 2 หัวข้อ ประกอบด้วย “การปฏิบัติตามแนวทางความร่วมมือใหม่หลังยุคโควิด - 19”และ “บรรเทาความท้าทายระดับโลกด้วยโครงการนวัตกรรม”
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 8 ต.ค. 63
การประชุมสัมมนา Yushan Forum ครั้งที่ 4 มีกำหนดการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นผ่านวิธีการอันหลากหลาย ทั้งทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์และการบันทึกคลิปวิดีโอล่วงหน้า โดยประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกล่าวต้อนรับในพิธีเปิดในครั้งนี้ นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีนักการเมืองจากนานาประเทศเข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้มีนักการเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำทางความคิดจากประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวม 10 กว่าประเทศ เข้าร่วมเจรจาเพื่อแสวงหากลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานในการบรรลุอุดมการณ์ด้านการรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคให้คงอยู่สืบต่อไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวในพิธีเปิดงานว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันได้ส่งผลให้ “การประชุมสัมมนา Yushan Forum” ในครั้งนี้ สามารถจัดขึ้นทั้งในรูปแบบที่ประชุมและรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นไปอย่างราบรื่น “รูปแบบไต้หวัน” นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จของระบบรัฐบาลที่เปี่ยมด้วยความเป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และแข็งแกร่งแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติด้านความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของประชาชนชาวไต้หวัน รวมถึงค่านิยมว่าด้วย “ไต้หวันช่วยเหลือเอเชีย เอเชียช่วยเหลือไต้หวัน”
ทั้งนี้ นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลม ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของภูมิภาคเอเชีย” พร้อมแสดงปาฐกถา โดยระบุว่า ศักยภาพด้านสาธารณสุขของไต้หวัน พื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เปี่ยมประสิทธิภาพ และระบอบประชาธิปไตยแบบเปิดกว้าง ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุความสำเร็จด้านการป้องกันโรคระบาด
Mr. Malcolm Bligh Turnbull อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งออสเตรเลีย Mr. Carl Bildt อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสวีเดน และMr. Furuya Keiji สมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่น ต่างทยอยแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ทั่วโลก ในระหว่างการแสดงปาฐกถาในพิธีเปิดฯ โดยได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อการธำรงรักษาประชาธิปไตยและเสรีภาพ และการป้องกันโรคระบาดที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพของไต้หวัน ตลอดจนพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันในการส่งเสริมความร่วมมือแบบทวิภาคีและพหุภาคีในเชิงลึกอย่างต่อเนื่องต่อไป
Mr. Jusuf Kalla อดีตรองประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทย Mr. Han Sung-Joo ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายระหว่างประเทศแห่งเกาหลีใต้ และนางเหอเหม่ยเซียง ผู้ช่วยนักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ สภาวิจัยแห่งชาติไต้หวัน (Academia Sinica) แสดงความคิดเห็นในระหว่างการเสวนาโต๊ะกลม ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของภูมิภาคเอเชีย” ที่ถังฟ่ง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวันทำหน้าที่เป็นประธาน โดยได้ชี้แจงถึงภายใต้ผลกระทบจากโรคระบาด นานาประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สาธารณสุข การแพทย์และความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ซึ่งทุกประเทศควรที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์และบูรณาการทรัพยากรเข้าไว้ด้วยกัน โดยนางเหอฯ คาดหวังที่จะเห็นประชาคมโลกประสานความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในภายภาคหน้า
นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำขณะปราศรัยในงานเลี้ยงอาหารค่ำหลังเสร็จสิ้นการเสวนา โดยระบุว่า ไต้หวันยืนหยัดปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตยอย่างหนักแน่น เมื่อเผชิญหน้ากับพฤติกรรมที่รัฐบาลจีนกระทำการต่อฮ่องกง ความร่วมมือระหว่างไต้หวันและประชาคมโลกยิ่งมีความจำเป็นและความเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น
ในระหว่างการประชุมสัมมนา ยังได้มีการจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ขึ้นควบคู่กัน 2 รอบภายใต้ 2 หัวข้อ ประกอบด้วย “การปฏิบัติตามแนวทางความร่วมมือใหม่หลังยุคโควิด - 19”และ “บรรเทาความท้าทายระดับโลกด้วยโครงการนวัตกรรม” โดยทางเจ้าภาพได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม องค์การนอกภาครัฐ และนักวิชาการคลังสมองของประเทศพันธมิตร เข้าร่วมเจรจาเพื่อร่วมกันระดมสมองในการแสวงหาทิศทางและแนวทางความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบในยุคหลังโควิด – 19 ในภายภาคหน้าต่อไป